วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2558

บทความวิชาการ: แนวคิดในการพัฒนาพี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิกส์

ตามเจตนารมณ์ของพราะราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ในมาตราที่เป็นหัวใจหลักสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ คือ หมวดที่ 7 ว่าด้วยครู คณาจารย์และบุคลากรด้านการศึกษา มาตรา 52 ให้กระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมให้มีระบบกระบวนการผลิต การพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยการกำกับและประสานให้สถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาให้มีความพร้อมและมีความเข้มแข็งในการเตรียมบุคลากรใหม่และการพัฒนาบุคลากรประจำการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการส่งเสริมระบบให้ครูได้ใช้องค์ความรู้ ทักษะกระบวนการและประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทั้งด้านความรู้และจริยธรรม และพรบ.ฉบับเดียวกันนี้ ในหมวดที่ 4 แนวทางที่ว่าด้วยการจัดการศึกษามาตรา 24 กล่าวไว้ว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ในหลายประเด็น แต่ประเด็นที่สถานศึกษาต้องดูแลกำกับอย่างใกล้ชิดในชั้นเรียน โดยเฉพาะทางผู้เขียนเล็งเห็นถึง (5) ว่าด้วย การส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ(คณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ 2553:7-8) ทั้งนี้การเรียนรู้ในชั้นเรียนโดยเฉพาะห้องเรียนในสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เป็นกลุ่มสาระหลัก ซึ่งในการสร้างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กระทรวงศึกษาธิการ. 2551: 94) การเรียนการสอนจะเน้นกระบวนการที่นักเรียนเป็นผู้คิดลงมือปฏิบัติ ศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบด้วยกิจกรรมหลากหลาย ให้นักเรียนต้องเรียนและกำหนดให้การจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้และค้นพบตนเองมากที่สุด และนักเรียนจะต้องมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทุกขั้นตอน (ทองเพชร เกริกชัย: 2555)
ซึ่งการจัดการศึกษาของไทยหลังจากที่ใช้ พรบ.ฉบับนี้ ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ โดย Mr.Tom Corcoran ได้กล่าวในวารสารวิชาการของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน;สสค.(2557) ถึงสถานการณ์การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย โดยหยิบยกคะแนน PISA วิชาวิทยาศาสตร์อยู่ในลำดับที่ 49 จากทั้งหมด 64 ประเทศ โดยคะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 425 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานนานาชาติ (OECD) กว่า 100 คะแนน ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าการที่จะได้ 100 คะแนน ต้องใช้เวลาเรียนถึง 2 ปี ดังนั้น จึงถือว่าการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยล้าหลังกว่ากว่านานาชาติถึง 2 ปี โดยคะแนนเฉลี่ยของไทยในปี 2009 สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยในปี 2006 เพียง 4 คะแนนเท่านั้น นอกจากนี้ สังคมไทยยังมีหัวกะทิทางวิทยาศาสตร์อยู่น้อย ดังจะเห็นได้จากเด็กไทยที่ทำคะแนนได้ดี (เกรด 5-6) ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายของการเข้าทำงานสายวิทยาศาสตร์มีเพียง 1.3% และ 0.6% ในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ตามลำดับ หากเทียบกับค่าเฉลี่ยของนานาชาติ(OECD) มีเด็กกลุ่มนี้จำนวน 10% ขณะที่เซี่ยงไฮ้ ญี่ปุ่น เกาหลี มีเด็กกลุ่มนี้สูงถึง 20% จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีเด็กที่ประสบความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์น้อยมากเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ไทยได้ลงทุนไปในระบบการศึกษา ซึ่งมากกว่าประเทศที่ทำคะแนนสูงกว่าไทย ทั้งนี้บทความที่ระบุในการประชุมวิชาการ ได้ระบุสภาพปัญหาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไทยดังนี้
1)      ครูต้องไม่สอนให้เด็กท่องจำเนื้อหาเป็นหลัก แต่เน้นความเข้าใจในเนื้อหาและสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ให้เด็ก
2)      เวลาเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ โดยเด็กไทยใช้เวลาเรียนวิทยาศาสตร์เพียง 150 นาที/สัปดาห์ ขณะที่นานาประเทศ(OECD)ใช้เวลาเรียนเฉลี่ยอยู่ที่ 250 นาที/สัปดาห์ เช่น การสอนเรื่องความหนาแน่นสัมพัทธ์ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องมวลและปริมาตร การสอนของไทยใช้เวลาเรียนเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นๆใช้เวลาเรียนถึง 5 บทเรียน
3)      หลักสูตรวิทยาศาสตร์ของไทยพยายามใส่เนื้อหาและสาระวิชามากเกินไป จนทำให้เด็กไทยไม่มีโอกาสความเข้าใจเชิงลึกในเนื้อหา เช่นในฮ่องกง ซึ่งมีผลการสอบ TIMSS วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับสูง พบว่าเนื้อหาการสอนครอบคลุมหัวข้อการสอบของ TIMSS เพียง 60 % แต่สอนอย่างลงลึก ทำให้เด็กเข้าใจในแก่นแท้ของเนื้อหา ขณะที่อเมริกา ซึ่งมีการสอนอย่างอย่างครอบคลุมเนื้อหา 100% แต่มีผลคะแนนที่ต่ำกว่าฮ่องกง
4)      ครูขาดการสร้างแรงจูงใจแก่นักเรียน โดยพบว่า สภาพชั้นเรียนส่วนใหญ่ครูจะยืนบอกให้เด็กจดหน้าชั้นเรียน หรือเดินตามสูตรสำเร็จที่หนังสือให้ไว้ ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก ซึ่งการสร้างแรงจูงใจต่อการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนที่เดินเข้าห้องเรียนแล้วอยากที่จะเรียน แต่เป็นหน้าที่ของครูทุกคนที่จะสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากที่จะเรียน
5)      การสอบมุ่งใช้ความจำเป็นหลัก โดยวัดผลที่ข้อเท็จจริงของเนื้อหามากกว่าสาระสำคัญหลักของเรื่อง ทำให้ครูก็ต้องสอนแบบนั้น เช่น ในจังหวัดพังงา เมื่อนำเครื่องมือช่วยสอนให้แก่ครู พบว่า มีครูบางส่วนปฏิเสธเพราะเกรงว่าจะสอนเนื้อหาไม่ทัน

ซึ่งถ้าพิจารณาจากทั้ง 5 ข้อนี้ ทุกข้อล้วนเกิดจากคุณครูที่ต้องบริหารการจัดการเรียนการสอน ดังนั้นจากสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติได้กล่าวมา เป็นการตอกย้ำว่าการช่วยเหลือและสนับสนุนครูผู้สอนในการจัดการเรียนรู้ยังถือเป็นการดำเนินงานหลักในการเดินหน้าเพื่อการพัฒนาการศึกษา ทั้งนี้ ศิราภรณ์ เทวะผลิน (2548) ได้ศึกษาผลของการนิเทศการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนที่มีต่อการพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พบว่า พฤติกรรมครูส่วนใหญ่แล้วจะยึดติดกับการเรียนการสอนแบบเดิมๆ คือเน้นการบรรยายในชั้นเรียน อันมีสาเหตุมาจากความเข้าใจพื้นฐานของครูที่ว่า ครูอาจจะมีหน้าที่สอนหนังสือให้จบเล่ม ครูจึงเน้นเนื้อหาและไม่เข้าใจกระบวนการพัฒนาต่างๆ จึงทำให้ครูมองไม่เห็นแนวทางในการพัฒนาความสามารถของผู้เรียน แต่ถ้าครูมีเพื่อนคู่คิด โดยใช้การนิเทศการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนแล้วนั้นจะทำให้การสอนของครูมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถึงตอนนี้ผู้ศึกษาได้เห็นความสำคัญ ว่าต้องมีวิธีการใดบ้างที่จะสามารถช่วยคุณครูสามารถจัดการชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น จึงได้ศึกษาและพบงานวิจัยของสุภาภรณ์ กิตติรัชดานนทและคณะ 2551 ได้มองถึงการนิเทศการสอนเป็นกระบวนการที่ช่วยกระตุ้น เร่งเร้า ให้ครูมีความตื่นตัวที่จะปรับปรุงการเรียนการสอนให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการนิเทศจากภายนอกหรือการนิเทศภายใน ก็ตาม เพราะการนิเทศการสอนมีจุดมุ่งหมาย เพื่อช่วยเหลือครู พัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การนิเทศการสอนช่วยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสถานศึกษา กระบวนการเรียนการสอนจะถูกพัฒนาให้ก้าวหน้าและทันสมัยอยู่เสมอจากการศึกษาสภาพการนิเทศการสอน พบว่ามีปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก เช่น ขาดแคลนอัตรากำลัง ศึกษานิเทศก์ขาดความรู้ ความสามารถ ทักษะและประสบการณ์ ในการนิเทศการสอนขาดเครื่องมือในการปฏิบัติงาน ขาดการประสานงาน ขาดงบประมาณ ขาดยานพาหนะ มีภาระมากทำให้ไม่มีเวลานิเทศ ขาดการนิเทศอย่างต่อเนื่อง ขาดแรงจูงใจและสนับสนุน ขาดการประเมินผลการปฏิบัติงาน
จากที่กล่าวมาข้างต้นผู้ศึกษานี้สนใจที่อยากจะพัฒนาระบบการช่วยเหลือการเรียนการสอนครู อาศัยแนวคิดที่ว่าการที่ครูจะมีความสามารถจัดการเรียนการสอนได้ดีจะต้องได้รับการพัฒนา ช่วยเหลือและได้รับการชี้แนะแนวทางให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและสิ่งที่จะช่วยเหลือให้ครูสามารถพัฒนาคุณภาพการสอนได้ คือ การพัฒนารูปแบบการนิเทศการสอน แต่คำว่า นิเทศการสอนโดยส่วนใหญ่แล้วความหมายจะออกมาในเชิงการประเมิน หรือการวัดระดับการสอนมากกว่าการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้กับครูผู้สอน ดังนั้น ระบบครูพี่เลี้ยงทางวิชาการจะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในวิชาชีพระหว่างเพื่อนครูด้วยกันโดยเฉพาะครูวิทยาศาสตร์ที่เปิดรับข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้การดำเนินการจำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างของความร่วมมือและกฎกติกามารยาทจะช่วยให้เกิดวัฒนธรรมของการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งกระบวนการพี่เลี้ยง (Mentoring) เป็นรูปแบบกิจกรรมอย่างหนึ่งที่นำมาใช้พัฒนาศักยภาพบุคคล ซึ่งพัฒนาทั้งผู้ได้รับการอุปถัมภ์ (Mentee) และผู้ที่เป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน โดยใช้การติดต่อสื่อสารแบบสองทางหรือใช้ในความหมาย เป็นกระบวนการสนับสนุน พัฒนาบุคคลด้วยการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคคล ด้วยการใช้วิธีการสื่อสาร เพื่อแลกเปลี่ยนสาระความรู้ ความคิด ผ่านทางกิจกรรมที่มีการปฏิสัมพันธ์กันหรือ เป็นกระบวนการเพื่อจัดเตรียมและกำหนดบทบาทให้ผู้มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ มีหน้าที่ให้คำปรึกษา คำแนะนำ แก่ผู้มีประสบการณ์น้อยกว่า เพื่อถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ จากบุคคลหนึ่งไปสู่บุคคลหนึ่ง บุคคลที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบพี่เลี้ยงจึงมี 2 กลุ่มหลัก คือ บุคคล ที่มีบทบาทเป็นพี่เลี้ยง เรียกว่า Mentor และบุคคลที่มีบทบาทเป็นผู้เรียนหรือผู้รับการอุปถัมภ์ เรียกว่า Mentee สำหรับแนวคิดการให้ความช่วยเหลือกันด้วยกระบวนการพี่เลี้ยงนี้ ซึ่งแนวคิดหลักและความจริงในการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพี่เลี้ยงวิชาการ คือ เป็นระบบเพื่อพัฒนาสมรรถนะในด้านการเรียนรู้ ที่ช่วยครูด้านการสอนและสังเกตพฤติกรรมนักเรียนว่าเกิดการเรียนรู้ในระหว่างการสอน ทั้งความรู้พื้นฐานที่ถูกต้องอย่างลึกซึ้งและมีกรอบแนวคิดหลักที่แน่นซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของความเชี่ยวชาญคือการรอบรู้ในแนวความคิดหลัก ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจข้อมูลอย่างถ่องแท้ แนวความคิดหลักนี้จะช่วยให้ครูผู้สอนเปลี่ยนทัศนคติการสอนเป็นความท้าทาย จากการเรียนรู้จากสิ่งเดิมไปเป็นปัญหาใหม่ๆการช่วยเหลือลักษณะดังกล่าวนี้มีนัยที่ชัดเจนว่าจะช่วยอะไร จะสนับสนุนอย่างไร และรวมจนถึงการช่วยครูผู้สอนเตรียมการสอนเท่าที่จำเป็น ได้อย่างชัดเจน และเมื่อได้ร่วมกันทำระหว่างองค์กรที่สนับสนุนการศึกษา โดยมีระบบการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา การติดตามการสอนก็จะไม่ใช่เรื่องที่เพิ่มภาระงานให้กับครูผู้สอนอีกต่อไป ทั้งนี้การดำเนินการต้องเป็นการสื่อสารสองทาง เกิดความต่อเนื่องและมีความใกล้ชิดกันมากเท่าที่ควรซึ่งแนวทางของพี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิกส์นี่เองที่สามารถดำเนินการได้ตามดังกล่าว
โดยในยุคปัจจุบันที่การสื่อสารต่างก็ตกอยู่ในท่ามกลาง การแวดล้อมของ ICT อาจจะต้องหาแนวทาง วิธีการ วัสดุ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆที่ส่งเสริมให้การช่วยเหลือและสนับสนุนมีความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและคุ้มประโยชน์ บทความนี้จะนำเสนอแนวทางการนิเทศผ่านระบบไอซีที อย่างหลากหลาย ที่สามารถส่งเสริมประสิทธิภาพ ของการเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการได้เป็นอย่างดี
นักการศึกษาได้แบ่งรูปแบบการนิเทศการสอน หรือในที่นี้จะเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนในรูปแบบการเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการ ตามลักษณะของปรัชญา และลักษณะของผู้นิเทศ แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
1. การนิเทศแบบตรวจตรา (Inspection Supervision) เป็นการนิเทศแบบดั้งเดิม ผู้นิเทศทำหน้าที่ตรวจสอบ เช่น การเป็นไปตามหลักสูตรหรือไม่ วิธีสอนเหมาะสมหรือไม่ เมื่อตรวจแล้วชี้แจงให้ครูแก้ไขข้อบกพร่อง
2. การนิเทศแบบให้ผลผลิต (Supervision as Production) บางครั้งเรียกว่าการนิเทศแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งมองที่ผลผลิต โดยเปรียบสถานศึกษาเป็นแหล่งผลิต ครูเป็นพนักงาน และนักเรียนเป็นผลผลิต และผู้นิเทศ ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพ วิจัยและพัฒนา เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ
3. การนิเทศเพื่อพัฒนา (Developmental Supervision) เป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา ตามความสามารถที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล เช่น ผู้นิเทศจะชี้นำเมื่อครูมีความรู้ ความสามารถต่ำ ครูขาดประสบการณ์ แต่เมื่อครูมีความสามารถสูงเมื่อเกิดปัญหาก็สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้
4. การนิเทศแบบคลีนิค (Clinical Supervision) การนิเทศแบบนี้ จะได้ข้อมูลโดยตรงจากการสังเกต การสอนในห้องเรียนจริง เป็นการร่วมมือกันระหว่างครูกับผู้นิเทศ สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการสอน เพื่อนำไปปรับปรุงการเรียนการสอน
ตามแนวคิดในการพัฒนาพี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิกส์ การช่วยเหลือและสนับสนุนการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ ควรมีกระบวนการที่ต่อเนื่อง มีการเคลื่อไหวที่เป็นพลวัตร (Dynamic) นั่นก็คือการนำวงจรคุณภาพ (Quality Loop) หรือวิธีระบบ (System Approach) มาใช้ในการดำเนินงาน จุดประสงค์หลักของกระบวนการพี่เลี้ยง คือ จัดกิจกรรมสนับสนุนพัฒนาศักยภาพผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และจิตสังคมทั้งผู้รับบทบาทผู้เรียน หรือผู้รับการอุปถัมภ์และผู้รับบทบาทพี่เลี้ยง สำหรับพี่เลี้ยงอิเล็กทรอนิกส์เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศบูรณาการกับระบบพี่เลี้ยง โดยดำเนินกิจกรรมผ่านเครื่องมือออนไลน์ โดยไร้ข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา และยังเพิ่มกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพกระบวนการพี่เลี้ยงได้อีกด้วย โดยแบ่งเป็นแต่ละขั้น ดังนี้
1.      การวิเคราะห์
ขั้นการวิเคราะห์ เป็นขั้นตอนการทำงานขั้นแรกที่ผู้นิเทศควรให้ความสำคัญ เพราะการนิเทศ จะประสบความสำเร็จ มีประสิทธิภาพสูง ควรต้องมีผลการวิเคราะห์ในหัวข้อที่สำคัญๆ ดังนี้
1.1 การวิเคราะห์ความต้องการ ความจำเป็น
การวิเคราะห์ความต้องการ ความจำเป็น ควรใช้เทคนิคและวิธีการหลายอย่าง เพื่อให้ได้ข้อมูล ที่ครอบคลุม เช่น การนิเทศและตรวจเยี่ยม การสัมภาษณ์ผู้บริหาร และครูผู้สอน การส่งแบบสำรวจความต้องการ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ผล จะทำให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการจำเป็น ในการพัฒนา การเรียนการสอน ที่หลากหลายและครอบคลุม เป็นประโยชน์ต่อการออกแบบ กิจกรรมการนิเทศ ที่ตรงกับความ ต้องการ ของโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย
1.2 การวิเคราะห์เนื้อหาและภารกิจ
เมื่อได้ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการ ความจำเป็นแล้ว ผู้นิเทศ จะดำเนินการกำหนดหลักสูตร กิจกรรม ตามลำดับความต้องการ แล้วกำหนดเนื้อหาในการนิเทศการศึกษา การจัดโครงสร้างและลำดับการนำเสนอ ให้ง่ายต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจ ผู้รับการนิเทศได้รับความสะดวก มีความรู้ความเข้าใจ และทักษะในการ ปฏิบัติงาน มีความพึงพอใจในการนิเทศ สามารถชักจูงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นได้
1.3 การวิเคราะห์ผู้รับการนิเทศ
ผู้นิเทศควรทำความรู้จัก กับผู้ีรับการนิเทศในทุกมิติ เช่น เพศ วัย วุฒิการศึกษา ประวัติการรับราชการ นิสัยใจคอ ความสนใจ ความถนัด เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถวางแผนการนิเทศ การเลือกวิธีการ สื่อ รวมทั้ง เทคนิคการนิเทศที่เหมาะสมได้ ซึ่งก็คือ หลักการนิเทศ ที่ยึดผู้รับการนิเทศเป็นศูนย์กลางในการนิเทศ นั่นเอง
1.4 การวิเคราะห์สภาพการณ์และนโยบาย
การนิเทศการศึกษา ไม่เพียงสนองความต้องการจำเป็นของโรงเรียน ผู้บริหาร และครู เท่านั้น แต่ในบางกรณี ก็เป็นการนิเทศตามนโยบาย เช่น การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับหลักสูตร วิธีการจัดการเรียนรู้ การบริหารจัดการที่สนองกลยุทธ์ของฝ่ายนโยบาย เป็นต้น ดังนั้นการวิเคราะห์สภาพการณ์และนโยบาย จึงเป็นภาระงานที่จำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน


2.      การออกแบบและพัฒนา
เมื่อมีการวิเคราะห์ความต้องการ ความจำเป็น วิเคราะห์ผู้รับการนิเทศ เนื้อหา ภารกิจ และสภาพการณ์ต่างๆ อย่างครอบคลุมแล้ว จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ ในการออกแบบและพัฒนา ในหัวข้อ ต่าง ๆ ดังนี้
2.1 การออกแบบวัตถุประสงค์ของการนิเทศ
การกำหนดวัตถุประสงค์ เป็นเสมือนเข็มทิศในการนิเทศการศึกษา ผู้นิเทศควรให้ความสำคัญ อยู่เสมอ โดยกำหนดจุดวัตถุประสงค์ ทั้งในลักษณะกว้างๆ (Goals) และวัตถุประสงค์ ที่มีลักษณะเฉพาะ หรือเชิงพฤติกรรม (Behavioral Objectives) มีความครอบคลุมทั้งด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัยและทักษะพิสัย ทำให้การนิเทศการศึกษามีความชัดเจนและครอบคลุม
2.2 การออกแบบวิธีการและกิจกรรมการนิเทศ
เมื่อผู้นิเทศ ได้มีการวิเคราะห์ความต้องการ ความจำเป็น และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนของการดำเนินการ กำหนดวิธีการนิเทศ ได้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ ในเบื้องต้น เช่น กรณีของการนิเทศออนไลน์ ของศึกษานิเทศก์ กลุ่มนิเทศฯ สพท. นครราชสีมา เขต 1 อาจจะเลือกแนวการนิเทศ ดังนี้
2.2.1 การนิเทศทางไกลผ่านเว็บไซต์ http://www.edkorat1.info/sup โดยการใช้ช่องทางกระดานถาม-ตอบ (Web Board) และห้องสนทนา (Chat Room)
2.2.2 การนิเทศและให้คำแนะนำปรึกษา ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
2.2.3 การนิเทศทางไกลด้วยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ( e-mail)
2.2.4 การนิเทศทางไกลด้วยเทคโนโลยีเว็บบล็อก (Web Blog)
2.2.5 การจัดส่งแผ่นซีดีรอมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book)
2.2.6 การนิเทศทางไกลผ่านสังคมเครือข่าย Facebook twitter Chat
2.2.7 การช่วยเหลือและสนับสนุนผ่านช่องทางสื่อสารเฉพาะ เช่น ทาง Office 365  ที่ได้รวมแอปเฉพาะ
3. ขั้นการนิเทศ
3.1 การเตรียมการและประสานงานการนิเทศ
เมื่อผู้นิเทศได้มีการวิเคราะห์ความต้องการ ความจำเป็น วิเคราะห์ผู้รับการนิเทศ เนื้อหา ภารกิจ สภาพการณ์ต่างๆ มีการสร้างและพัฒนาสื่อและกิจกรรมการนิเทศแล้ว ควรมีการเตรียมการ ประสานงาน และนิเทศการศึกษา ดังนี้
3.1.1 การจัดทำตารางและกำหนดการนิเทศ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
3.1.2 ประสานงานกับคณะนิเทศ เพื่อให้มีการบูรณาการการนิเทศ ให้ครอบคลุมภารกิจ และกลยุทธ์ต่างๆ รวมทั้งการบูรณาการการนิเทศ ตามความจำเป็น
3.1.3 ประสานงานไปยังโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนัดหมายเกี่ยวกับวัน เวลา ตารางการนิเทศ รวมทั้งการเตรียมข้อมูลเบื้องต้นในด้านต่างๆ


3.2 การปฏิบัติการนิเทศ
เป็นขั้นตอนที่ผู้นิเทศ ลงมือดำเนินการนิเทศ ซึ่งควรใช้หลักการนิเทศที่สำคัญๆ เช่น การมีมนุษย์สัมพันธ์อันดีต่อกัน การทำงานเป็นทีม มีการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมผลสำเร็จ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ผู้รับการนิเทศทุกคน สามารถพัฒนาให้บรรลุผลตามศักยภาพได้ ให้ความสำคัญในการพัฒนา การจัดการเรียนการสอน ตามแนวทางการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ที่เน้นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญปัญหาและการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะ ในการป้องกันและการแก้ไข ปัญหาให้ผู้เรียน เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกให้คิดเป็น ทำเป็น รักการแสวงหาความรู้ ด้วยตนเอง เกิดการใฝ่รู้ใฝ่เรียนอย่างต่อเนื่อง ผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างสมดุล ผู้สอน สามารถจัดบรรยากาศ สภาพ แวดล้อม สื่อการเรียนการสอน การอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียน มีการใช้ กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ เป็นต้น

4. ขั้นการประเมินผลและรายงาน
การดำเนินกิจกรรมการนิเทศต่างๆ ควรได้มีการประเมินที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกิจกรรม ทั้งก่อนการดำเนินกิจกรรม ระหว่างดำเนินกิจกรรม และหลังการดำเนินกิจกรรม ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูล ที่เป็นประโยชน์หลายประการ กล่าวคือ การประเมินก่อนการดำเนินกิจกรรม จะทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับ ผู้รับการนิเทศ เกี่ยวกับความสนใจ ความรู้พื้นฐาน การประเมินระหว่างดำเนินกิจกรรมจะทำให้ทราบข้อมูล เกี่ยวกับพัฒนาการของผู้รับการนิเทศ ส่วนการประเมินหลังการดำเนินกิจกรรม จะทำให้ทราบถึง ผลสัมฤทธิ์ ของการดำเนินงาน มีการเลือกใช้วิธีการและเครื่องมือในการประเมินผล ที่ครอบคลุมวัตถุประสงค์ เมื่อการประเมินผลสิ้นสุดลง ควรได้มีการสรุปและรายงานผลให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบ โดยอาจจัดทำเป็นรายงาน อย่างง่าย แล้วรวบรวมไว้ใน เอกสารการนิเทศที่เพื่อให้เห็นเส้นพัฒนาของการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

5. ขั้นปรับปรุงและพัฒนา
เป็นขั้นตอนสำคัญที่ผู้นิเทศควรดำเนินการอยู่เสมอ ในทุกขั้นตอนการนิเทศ เพราะในปรับปรุงและพัฒนา การปฏิบัติงานนั้น ต้องมีการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีการประเมินผลการดำเนินการทุกครั้ง จะได้ข้อมูลสำคัญที่ผู้รับการนิเทศ ผู้นิเทศ บุคลากร หน่วยงาน องค์กรผู้รับผิดชอบ จะนำไปประกอบการปรับปรุง แก้ไข หรือพัฒนาให้การทำงานเป็นไปอย่างสอดคล้อง เหมาะสมตามบทบาทหน้าที่ และมีการผลดำเนินงานที่เกิด ประสิทธิภาพสูงสุด การปรับปรุงและพัฒนาได้ดำเนินการในทุกขั้นตอนของการนิเทศ เช่น การปรับปรุงวิธีการและ เครื่องมือ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำ มีประโยชน์ในการดำเนินการนิเทศการศึกษา อย่างสูงสุด การปรับปรุงในขั้นตอนการออกแบบและพัฒนา เพื่อให้วัตถุประสงค์ของการนิเทศมีความครอบคลุม สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของครูและโรงเรียน รวมทั้งการปรับปรุงพัฒนาชุดฝึกอบรม ให้ได้ประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เลือกวิธีการนิเทศที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้รับการนิเทศ บริบท เนื้อหาสาระ งบประมาณ รวมทั้งการปรับปรุงแผนการนิเทศให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการปรับปรุงพัฒนาวิธีการประเมิน ผลการนิเทศ ให้ได้เครื่องมือที่มีคุณภาพตามหลักวิชาการ ซึ่งจะส่งผลถึงข้อมูลที่ได้จากการประเมิน มีความถูกต้องตามความเป็นจริง
โดยแนวคิดการพัฒนารูปแบบของพี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิกส์ โดย รุ่งทิวา เสาร์สิงห์ (2552) นักศึกษาปริญญาโท คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้วางรูปแบบดังภาพ
    
ภาพที่ 1: รูปแบบพี่เลี้ยงอิเล็กทรอนิกส์                 ภาพที่ 2: แนวทางโครงสร้างสัมพันธภาพระบ                                                                                           พี่เลี้ยงอิเล็กทรอนิกส์
แนวคิดการพัฒนารูปแบบของพี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิกส์ โดย Long life learning Program
1)      E-Mentoring Processes คือ กระบวนการหรือขั้นตอนของระบบการติดตาม ช่วยเหลือและสนับสนุนการสอน เป็นพื้นที่ในการเข้าถึงข้อมูลระหว่างกันและกัน และรับทราบข่าวสารว่า ผลของการดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้าง
2)      3M Actor คือ ส่วนในการทำงานร่วมกัน ระหว่าง Managers คือผู้ดูแลระบบ Mentors คือผู้ให้คำปรึกษา มีความเชี่ยวชาญด้านการสอน และ Mentees คือครูผู้สอนที่เปิดใจรับพัฒนาการสอนจากทางโปรแกรม
3)      Social Network คือ ระบบในการติดต่อสื่อสารระหว่าง 3M และต้องสามารถมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันได้ ดังรูปภาพต่อไปนี้
      

                 ภาพที่ 3: e-mentoring on 3M actors ที่มา: http://www.e-mentoring.eu/?
พี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิกส์ เชื่อว่าจะแสดงรายงานผลความพึงพอใจจากผู้เกี่ยวข้องในเชิงบวกประโยชน์ที่ได้รับนั้นเป็นวงกว้าง แตกต่างจากวิธีการถ่ายทอดความรู้วิธีอื่นเพราะนอกจากจะให้ประโยชน์ต่อผู้เรียน หรือผู้รับการอุปถัมภ์ด้านผลสัมฤทธิ์ความรู้ ทักษะ และจิตสังคมที่เพิ่มขึ้นแล้ว ผู้รับบทบาทเป็นพี่เลี้ยง ยังได้รับประโยชน์ด้วย ทั้งรูปแบบรางวัลภายนอก (Extrinsic reward) เช่น การได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ความสามารถตนเอง รูปแบบรางวัลภายใน (Intrinsic reward) เช่น ความภาคภูมิใจในคุณค่าของตนสอดคล้องกับ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม กล่าวว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้ร่วมกัน เครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การสอนคนอื่น หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั่นเองแม้แต่องค์กรที่นำกระบวนการพี่เลี้ยงไปใช้งาน ยังได้รับประโยชน์ด้านการมีสังคมการทำงานในองค์กรที่มีการแลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้ผ่านสัมพันธภาพอันดีการที่นวัตกรรมเทคโนโลยีเครือข่ายมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลต่อความจำเป็นในการที่จะต้องศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนารูปแบบพี่เลี้ยงอิเล็กทรอนิกส์ ในทิศทางและกลยุทธ์แบบใหม่ให้สามารถนำไปใช้สนับสนุนการเรียนการสอนแบบปกติ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนได้อย่างแท้จริง
ผู้ศึกษาเห็นว่า การพัฒนาระบบช่วยเหลือและสนับสนุนครูผู้สอน ผ่านสังคมเครือข่าย e-Mentoring สำหรับครูผู้สอน ด้วยเห็นคุณค่าที่จะเกิดขึ้นกับการพัฒนาการศึกษา และมีคุณค่ากับหน่วยงานภายนอกที่จะมาร่วมพัฒนาการศึกษา ดังนี้
1.       เพิ่มประสิทธิภาพในระบบการติดตาม ช่วยเหลือ และสนับสนุน ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์อย่างมีประสิทธิผล โดยอาศัยความร่วมมือจากครูพี่เลี้ยง หน่วยงานที่สนับสนุนการศึกษา และครูผู้สอน ผ่านระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์
2.       ครูผู้สอน มีความตระหนักและตื่นตัวต่อการเรียนการสอนในชั้นเรียน เพราะด้วยระบบ E-Mentoring จะมีบทบาทเป็นเพื่อนคู่คิดให้กับครู
3.       สามารถพัฒนาตัวเองจากแหล่งเรียนรู้ด้านกระบวนการสอนที่ระบบป้อนให้ที่ละเล็กทีละน้อย
4.       การลงมือปฏิบัติการสอนของครู มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น เพราะได้ทำการเตรียมการเป็นอย่างดี
5.       การสะท้อนผลโดยครูพี่เลี้ยงทางวิชาการ จะทำให้ครูมีกำลังใจในการสอนมากยิ่งขึ้น และเห็นว่าการติดตามการเรียนการสอนนั้น ไม่ใช่เรื่องเพิ่มภาระงานให้ครูแต่อย่างใด

บรรณุกรม
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. การจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตามหลักสูตร
การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช (2544). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2546

วิชาญ พันธุ์ประเสริฐ. (2551). การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมครูวิทยาศาสตร์เพื่อออกแบบบท
ปฏิบัติการที่สอดแทรกภูมิปัญญาท้องถิ่น. ปริญญานิพนธ์ กศ..(วิทยาศาสตรศึกษา).
กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. คณะกรรมการควบคุม:
รองศาสตราจารย์ สมจิต สวธนไพบูลย์ , ว่าที่ร้อยตรี ดร. มนัส บุญประกอบ , อาจารย์ดร. ราชันย์ บุญธิมา

วราภรณ์ แสงพลสิทธิ์ (2554).  ความต้องการการนิเทศการสอนของครูเครือข่ายโรงเรียนอัสสัมชัญ.งานการเรียนการสอน โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม: บทคัดย่อ

ประสพศรี สุวรรณวงศ์.(2539). ลักษณะการกำหนดหน้าที่การงานให้ครูในโรงเรียนมัธยมรัฐบาล.
กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาลัย.บทคัดย่อ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2553) ราชกิจจานุเบกษา
หน้า 7-8
รุ่งทิวา เสาร์สิงห์ (2552) แนวคิดการพัฒนารูปแบบพี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิกส์. วิจัยปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.บทนำ
ศิราภรณ์ เทวะผลิน (2548). การศึกษาผลการสอนผลของการนิเทศการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนที่มีต่อการพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์.วิจัยปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขามัธยมศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ: บทคัดย่อ
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2556). กรณีศึกษา โครงการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ UPGRADE Casebook.พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพ: สถาบันคีนันแห่งเอเซีย
สุภาภรณ์กิตติรัชดานนทและคณะ (2551). การพัฒนารูปแบบการนิเทศการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน.วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.บทคัดย่อ
สุมนฉัตร์ สีมาคูณ เปรมจิตร บุญสาย และอุษา คงทอง (2553).การศึกษาปัญหาการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 3 ของครูโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสระแก้ว. วารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์. หน้า 10-11

สายใจ ประยูรสุข (2551). ความต้องการการนิเทศการสอนของครูผู้สอน.การค้นคว้าอิสระนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต.มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร: บทคัดย่อ

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน; สสค. (2557). เอกสารประกอบการบรรยายเพื่อยกระดับการสอนวิทยาศาสตร์ไทย.กิจกรรมบรรยายพิเศษครูวิทยาศาสตร์ไทย

สถาบันคีนันแห่งเอเซีย (2553). เอกสารประกอบการดำเนินการโปรแกรมครูพี่เลี้ยงทางวิชาการ.โครงการพัฒนาการสอนวิทยาศาสตร์ จังหวัดพังงา MSD IN-STEP: หน้า 5-6


ค้นจากเวป

Lifelong learning Program 2013: ค้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 จาก http://www.e-mentoring.eu/?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น