วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ที่มาและความสำคัญ การพัฒนาการนิเทศด้วยรูปแบบ 3M เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ สำหรับครูวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

ที่มาและความสำคัญ
             การเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคปัจจุบันและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนสภาพปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลง ทำให้สังคมไทยปฏิเสธไม่ได้ที่จะเข้าสู่ภาวะวิกฤติการณ์ วิกฤตที่คนไทยอาจจะไม่สามารถแยกแยะข่าวสารดีหรือข่าวสารที่ไม่ถูกต้องก่อให้เกิดเหตุร้ายตามมา ทั้งนี้ความรู้และข่าวสารทั่วไปเป็นของหาง่าย ที่สำคัญคือความรู้มีหลายชุด บางชุดถูก บางชุดผิด โลกมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เราต้องตรวจสอบว่าความรู้ชุดไหนที่เหมาะสม สามารถนำมาใช้อย่างเหมาะสมเข้ากับสถานการณ์ของตัวเองได้ ดังนั้นการแก้วิกฤติของชาติในปัจจุบันทุกคนจึงมองไปที่การศึกษา ต้องใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือสร้างคุณภาพของคนภายในชาติให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ คือสามารถพัฒนาตนได้ใกล้เคียงศักยภาพที่มีอยู่มากที่สุดและมีการพัฒนาแบบพหุปัญญารอบด้าน ซึ่งตามเจตนารมณ์ของพราะราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ได้กล่าวถึงผลต่อการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ต้องนำมาประกอบการวางแผนและกำหนดทิศทางการศึกษาได้แก่การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยเฉพาะแผนปฏิรูปการศึกษาในรอบที่ 2 (พ.ศ. 2552 - 2561) ที่มุ่งเน้นด้านคุณภาพการจัดการศึกษาเพื่อให้คนไทยทั้งประเทศได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยการขยายโอกาสและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและจัดการศึกษา การผลิตและการพัฒนาครู เพื่อให้ได้ครูดี ครูเก่ง มีคุณธรรม มีคุณภาพ การจัดให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย การลงทุนด้านการศึกษาและยกระดับคุณภาพการศึกษาใน 5 วิชาหลักโดยใช้เกณฑ์การประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นหลักในการยกระดับคุณภาพโรงเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2556: ออนไลน์) โดยมาตราที่เป็นหัวใจหลักสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ คือ หมวดที่ 7 ว่าด้วยครู คณาจารย์และบุคลากรด้านการศึกษา มาตรา 52 ให้กระทรวงส่งเสริมให้มีระบบ กระบวนการผลิต การพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยการกำกับและประสานให้สถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาให้มีความพร้อมและมีความเข้มแข็งในการเตรียมบุคลากรใหม่และการพัฒนาบุคลากรประจำการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการส่งเสริมระบบให้ครูได้ใช้องค์ความรู้ ทักษะกระบวนการและประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทั้งด้านความรู้และจริยธรรม และ หมวดที่ 4 แนวทางที่ว่าด้วยการจัดการศึกษามาตรา 24 ว่าด้วย การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ในหลายประเด็น แต่ประเด็นที่สถานศึกษาต้องดูแลกำกับอย่างใกล้ชิดในชั้นเรียน คือ (5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ (คณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ,  2553:7-8) ทั้งนี้การเรียนรู้ในชั้นเรียนโดยเฉพาะห้องเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เป็นกลุ่มสาระหลัก ซึ่งในการสร้างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551: 94) การเรียนการสอนจะเน้นกระบวนการที่นักเรียนเป็นผู้คิดลงมือปฏิบัติ ศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบด้วยกิจกรรมหลากหลาย ให้นักเรียนต้องเรียนและกำหนดให้การจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้และค้นพบตนเองมากที่สุด และนักเรียนจะต้องมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทุกขั้นตอน
วิจารณ์ พาณิชย์, (2557) ได้กล่าวปาฐกถา ในเวที ประชุมวิชาการประจำปี สตรี เยาวชน และครอบครัวศึกษา ครั้งที่ 10 "สตรีและเยาวชนศึกษา: ยุทธศาสตร์เพื่อความเข้มแข็งของสังคมไทย" โดยมีใจความสำคัญว่า เยาวชนที่ดีในศตวรรษที่ 21 คือคนที่พัฒนาตนได้ใกล้เคียงศักยภาพที่มีอยู่มากที่สุด มีการพัฒนาพหุปัญญารอบด้าน ขณะนี้ประเทศไทยพัฒนาเฉพาะปัญญา ไม่ได้พัฒนาอารมณ์ จิตใจ โดยธรรมชาติมนุษย์เรามีศักยภาพทั้งด้านดีและด้านชั่ว มีทั้งด้านบวกและด้านลบ การศึกษาต้องหนุนศักยภาพด้านดี และพยายามลดทอนศักยภาพด้านลบ หัวใจสำคัญคือเพื่อให้เด็กเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับอาทิ การเรียนรู้ผ่านกระบวนการกลุ่ม ทำให้เด็กฝึกทักษะการให้และรับ กระบวนการเรียนรู้ยุคใหม่ เด็กเป็นผู้สร้างมากกว่าผู้เสพหรือเป็นผู้ที่มาดูดซับความรู้ เด็กจะมีศักยภาพงอกงามสร้างสรรค์เรื่องราวต่างๆ ติดตัวไป โดยสิ่งที่เด็กต้องฝึกให้ได้คือ ทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ที่หมายถึงเด็กเรียนวิชาความรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องเลยไปจากความรู้ไปถึง ทักษะใหญ่ๆ มี 3 ชุด และ 1 ในทักษะนี้คือ ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี ซึ่งยุคนี้มีข้อมูลมากมาย ทั้งกึ่งจริงกึ่งหลอก ซึ่งการจะทำความเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง ทักษะด้านนี้จึงมีส่วนสำคัญที่จะเป็นส่วนสร้างให้คนไทยสามารถเข้าใจกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงของสังคมจนสามารถเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงได้ ตัวอย่างเช่น การศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในด้านการค้นคว้าศึกษาแหล่งข้อมูล ทำให้การศึกษาง่ายขึ้นและ ไร้ขีดจำกัด ผู้เรียนมีความสะดวกในการค้นคว้าวิจัย เพื่อให้การดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้มีความสะดวกคล่องตัวและรวดเร็วในการทำกิจกรรมต่าง ๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน สามารถทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกันได้หรือทำงานใช้เวลาน้อยลง ยิ่งอัตราการขยายตัวทุก ๆด้านที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีการติดต่อสื่อสารที่เจริญก้าวหน้าทันสมัย รวดเร็ว ถูกต้องและทำให้เป็นโลกที่ไร้พรมแดน ดังนั้นทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการพัฒนาระบบให้รองรับด้วยเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆเป็นอย่างมาก

ในมุมของต่างชาติ โดย Tom Corcoran,  (2557) ได้กล่าวกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ถึงสถานการณ์การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย โดยหยิบยกคะแนน PISA วิชาวิทยาศาสตร์อยู่ในลำดับที่ 49 จากทั้งหมด 64 ประเทศ โดยคะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 425 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานนานาชาติ (OECD) กว่า 100 คะแนน ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าการที่จะได้ 100 คะแนน ต้องใช้เวลาเรียนถึง 2 ปี ดังนั้นจึงถือว่าการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยล้าหลังกว่ากว่านานาชาติถึง 2 ปี โดยคะแนนเฉลี่ยของไทยในปี 2009 สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยในปี 2006 เพียง 4 คะแนนเท่านั้น นอกจากนี้สังคมไทยยังมีหัวกะทิทางวิทยาศาสตร์อยู่น้อย ดังจะเห็นได้จากเด็กไทยที่ทำคะแนนได้ดี (เกรด 5-6) ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายของการเข้าทำงานสายวิทยาศาสตร์มีเพียง 1.3% และ 0.6% ในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ตามลำดับ หากเทียบกับค่าเฉลี่ยของนานาชาติ (OECD) มีเด็กกลุ่มนี้จำนวน 10% ขณะที่เซี่ยงไฮ้ ญี่ปุ่น เกาหลี มีเด็กกลุ่มนี้สูงถึง 20% จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีเด็กที่ประสบความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์น้อยมากเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ไทยได้ลงทุนไปในระบบการศึกษา ซึ่งมากกว่าประเทศที่ทำคะแนนสูงกว่าไทย ทั้งนี้บทความที่ระบุในการประชุมวิชาการ ได้ระบุสภาพปัญหาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไทย ที่สำคัญคือหลักสูตรวิทยาศาสตร์ของไทยพยายามใส่เนื้อหาและสาระวิชามากเกินไป จนทำให้เด็กไทยไม่มีโอกาสความเข้าใจเชิงลึกในเนื้อหา เช่น ในประเทศฮ่องกง ซึ่งมีผลการสอบ TIMSS วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับสูง พบว่าเนื้อหาการสอนครอบคลุมหัวข้อการสอบของ TIMSS เพียง 60 % แต่สอนอย่างลงลึก ทำให้เด็กเข้าใจในแก่นแท้ของเนื้อหา ขณะที่อเมริกา ซึ่งมีการสอนอย่างอย่างครอบคลุมเนื้อหา 100% แต่มีผลคะแนนที่ต่ำกว่าฮ่องกง และถ้าพิจารณาจากสภาพชั้นเรียน ส่วนใหญ่ครูไทยจะยืนบอกให้เด็กจดหน้าชั้นเรียน หรือเดินตามสูตรสำเร็จที่หนังสือให้ไว้ ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน ซึ่งการสร้างแรงจูงใจต่อการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนที่เดินเข้าห้องเรียนแล้วอยากที่จะเรียน แต่เป็นหน้าที่ของครูทุกคนที่จะสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากที่จะเรียน ทั้งนี้บทความที่ระบุในการประชุมวิชาการ ได้ระบุสภาพปัญหาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไทย โดยเน้นที่การจัดการเรียนรู้ล้วนเกิดจากคุณครูที่ต้องบริหารการจัดการเรียนการสอนด้วยตัวเอง ซึ่งยังไม่มีระบบสนับสนุนและช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการของครูผู้สอน
นอกจากนี้การจัดการเรียนรู้ของรายวิชาวิทยาศาสตร์ยังพบปัญหาด้านเนื้อหาวิชาไม่เหมาะสมกับเวลาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ครูไม่มีเวลาผลิตสื่อหรือซ่อมแซมอุปกรณ์การสอนอุปกรณ์ที่ใช้มีคุณภาพต่ำ รวมจนถึงสภาพห้องเรียนไม่เหมาะสมกับการจัดกิจกรรมการทดลอง ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานไม่เพียงพอ ทำให้ผู้เรียนขาดแรงจูงใจในการเรียน ขาดความเชื่อมั่นทำให้การเรียนล่าช้า ผนวกกับบทบาทภาระหน้าที่ของครูวิทยาศาสตร์มีมากต้องทำหน้าที่อื่นนอกจากการสอนประกอบด้วย ยิ่งทำให้ไม่สามารถที่จะปรับสภาพการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนได้อย่างทันถ่วงที ทั้งนี้ด้วยช่วงเวลาในการเตรียมการสอนของครูถูกลดทอนลง ซึ่งตรงกับรายงานวิจัยของ ศิราภรณ์ เทวะผลิน, (2548) ได้ศึกษาผลของการนิเทศการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนที่มีต่อการพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พบว่า พฤติกรรมครูส่วนใหญ่แล้วจะยึดติดกับการเรียนการสอนแบบเดิมๆ คือเน้นการบรรยายในชั้นเรียนเพราะสามารถจัดการสอนได้โดยง่าย อันมีสาเหตุมาจากความเข้าใจพื้นฐานของครูที่ว่า ครูอาจจะมีหน้าที่สอนหนังสือให้จบเล่ม ครูจึงเน้นเนื้อหาและไม่เข้าใจกระบวนการพัฒนาต่างๆ จึงทำให้ครูมองไม่เห็นแนวทางในการพัฒนาความสามารถของผู้เรียน แต่ถ้าครูมีเพื่อนคู่คิด โดยใช้การนิเทศการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนแล้วนั้นจะทำให้การสอนของครูมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถึงตอนนี้ผู้วิจัยได้เห็นความสำคัญ ว่าต้องมีวิธีการใดบ้างที่จะสามารถช่วยคุณครูสามารถจัดการชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
ข้อค้นพบของการพัฒนารูปแบบการนิเทศ จากงานวิจัยของสุภาภรณกิตติรัชดานนท์ และคณะ, (2551) ในเรื่องการพัฒนารูปแบบการนิเทศการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีประเด็นหลักของการจัดการนิเทศอยู่ด้วยกัน 7 ด้าน และประเด็นหลักด้านแรกคือ ด้านวัตถุประสงค์ของการนิเทศ มี 1 ประเด็นย่อย คือ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ และร่วมมือกับครูให้สามารถพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ และพัฒนาการ เรียนการสอน ที่จะนำไปสู่คุณภาพของผู้เรียน ดังนั้นประเด็นนี้จึงจุดมุ่งหมายในการพัฒนาการสอนโดยตรง เป็นกระบวนการที่ช่วยกระตุ้น เร่งเร้า ให้ครูมีความตื่นตัวที่จะปรับปรุงการเรียนการสอนให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการนิเทศจากภายนอกหรือการนิเทศภายในสถาบัน  เพราะการนิเทศการสอนมีจุดมุ่งหมาย เพื่อช่วยเหลือครู สามารถช่วยเหลือผู้สอนไปพร้อม ๆกับการทำหน้าที่การสอนในห้องเรียน สามารถพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้โดยตรงกับความต้องการของผู้สอนเอง การนิเทศการสอนจึงช่วยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสถานศึกษา กระบวนการเรียนการสอนจะถูกพัฒนาให้ก้าวหน้าและทันสมัยอยู่เสมอ นอกจากนี้การศึกษาสภาพการนิเทศการสอน ยังพบว่ามีปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก เช่น ขาดแคลนอัตรากำลัง ศึกษานิเทศก์ขาดความรู้ ความสามารถ ขาดทักษะและประสบการณ์ในการนิเทศการสอน ขาดเครื่องมือในการปฏิบัติงาน ขาดการประสานงาน ขาดงบประมาณ ขาดยานพาหนะ มีภาระมากทำให้ไม่มีเวลานิเทศ จนทำให้ขาดการนิเทศอย่างต่อเนื่อง ขาดแรงจูงใจและสนับสนุน ขาดการประเมินผลการปฏิบัติงาน (สายใจ ประยูรสุข2551)
ทั้งนี้บทบาทหน้าที่ของครูจาก พจนา มะกรูดอินทร์, (2552) ในการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ ครูคือผู้สร้างสถานการณ์ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตัวนักเรียนเอง เป็นผู้จัดหาวัสดุ อุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการศึกษาค้นคว้า เป็นผู้ถามคำถามต่าง ๆ ที่จะช่วยนำทางให้นักเรียนค้นหาความรู้ต่าง ๆ
 การพัฒนาพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูนั้นอาจทำได้หลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่น่าจะส่งผลโดยตรงทำให้ครูสามารถปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ กระบวนการนิเทศการสอนดังที่ วัชรา เล่าเรียนดี, ( 2550 : 8) กล่าวว่า การนิเทศการสอนเป็นกระบวนการหนึ่งของการจัดการศึกษาที่มุ่งปรับปรุงกระบวนการสอน กระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน และส่งเสริมพัฒนาความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่องที่ส่งผลโดยตรงต่อผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ในการพัฒนาพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอน ต้องอาศัยวิธีการ หลากหลายวิธี และวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเหลือครูให้สามารถปรับปรุงและพัฒนาตนเอง พัฒนางานการจัดการเรียนการสอนในวิชาชีพของตนเองได้อย่างต่อเนื่องและเกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อผู้เรียน
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, (2532 : 6) พบว่า ในสถานการณ์ทางการนิเทศการสอนในระดับต่าง ๆเท่าที่ผ่านมา มักจะเป็นไปในลักษณะของการเพิ่มพูนปัญญาให้แก่ครูผู้สอนมากกว่าจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาด้านการเรียนการสอน เพราะการนิเทศการศึกษามักจะเป็นไปในลักษณะการประเมินการสอน หรือตรวจดูผลการเรียนมากกว่าการช่วยครูพัฒนาทำให้ครูรู้สึกหวาดกลัว ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เพราะครูคิดว่าการนิเทศการสอนเป็นการจับผิด มากกว่าเป็นการช่วยเหลือแก้ปัญหาการเรียนการสอนจากปัญหาการนิเทศที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้กระบวนการนิเทศการศึกษานั้น จึงต้องมีการปรับปรุงให้เป็นการนิเทศการศึกษาที่เป็นไปอย่างทั่วถึงครอบคลุมขอบเขตการปฏิบัติงานครบถ้วนทุกสถานศึกษา มีการนิเทศการศึกษาที่ตรงตามปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของครูและสถานศึกษา มีความต่อเนื่องในการดำเนินการนิเทศเพื่อแก้ปัญหาของสถานศึกษา การที่จะดำเนินการดังกล่าวได้นั้นระบบที่จะสนับสนุนครูผู้สอนได้เป็นอย่างดี โดยที่ครูไม่ได้รับความกดดันแต่อย่างใด ซึ่ง สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ผู้บริหารโครงการพัฒนาการสอนวิทยาศาสตร์จังหวัดพังงา, (2554) หรือ MSD IN-STEP ได้ให้ความหมายผู้สนับสนุนและช่วยเหลือการสอน ไว้ว่า เป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการ (Mentoring) ซึ่งหมายถึง การมีครูพี่เลี้ยง เข้ามาทำงานร่วมกันกับครูผู้สอนอย่างกัลยาณมิตร เพื่อช่วยให้ครูผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น  มีงานวิจัยชี้ชัดว่าการเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการช่วยปรับปรุงคุณภาพการสอนของเพื่อนครูและช่วยลดการลาออกจากอาชีพครูได้ด้วย แม้ว่าส่วนใหญ่จะนำมาใช้กับครูใหม่ แต่การเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการจะช่วยให้เพื่อนครูใช้หลักสูตรใหม่ได้อย่างมีประสิทธิผล ช่วยให้ครูมีความเข้าใจในเนื้อหาความรู้ที่ลึกซึ้ง และสร้างสังคมเชิงปฏิบัติในทางวิทยาศาสตร์ที่ยั่งยืน แต่สภาพการนิเทศปัจจุบันนี้ ด้วยการมีทรัพยากรบุคคลที่จำกัด ผนวกกับการเดินทางที่เข้าถึงโรงเรียนได้อย่างจำกัด ทำให้การนิเทศการสอนอันเพื่อที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนการสอนของครูนั้นยังทำได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นการนิเทศในปัจจุบันจึงทำได้เพียงแต่ประเมินคุณภาพการสอนครูเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งทำให้การนิเทศยังไม่เกิดประสิทธิผลเพียงพอที่จะไปมีบทบาทในการเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนครูให้มีคุณภาพขึ้น
ที่กล่าวมาจากข้างต้นการสร้างกระบวนการนิเทศเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการสอนครู ผ่านสื่อสังคมออนไลน์หรือระบบสื่ออิเล็คทรอนิกส์ จึงเป็นกระบวนการที่สามารถเข้าถึงกิจกรรมการสอนครูได้อย่างต่อเนื่องและตอบสนองต่อความต้องการของครูผู้สอนได้อย่างทันท่วงทีเท่าที่ครูเกิดปัญหาหรือมีความต้องการที่ปรึกษาในการเตรียมการสอนหรือการสอนในขณะใดขณะหนึ่งโดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นช่วงชั้นของการเรียนวิทยาศาสตร์อันเพื่อให้นักเรียนเริ่มทำความเข้าใจในเนื้อหาและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ดังนั้นการพัฒนาการนิเทศด้วยรูปแบบ 3M ที่ประกอบด้วย Mentor คือ ครูพี่เลี้ยงทางวิชาการ Mentee คือครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ และ Manager คือองค์กรที่ดูแลการนิเทศ โดยการนิเทศจะผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งถูกออกแบบและพัฒนาโดยสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ทั้งนี้เพื่อพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ของครูวิทยาศาสตร์ จะสามารถช่วยเหลือและสนับสนุนครูผู้สอนได้อย่างมีประสิทธิผล โดยกระบวนการเป็นการวิจัยประเมินผลและพัฒนาให้เกิดรูปแบบที่ครูสามารถนำไปเป็นเทคโนโลยีในการพัฒนาการสอนของตัวเอง ซึ่งต้องอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอน พี่เลี้ยงวิชาการ และทีมบริหารจัดการความรู้ เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ใกล้ชิดในการเตรียมแผนการสอน ดูแลกิจกรรมการสอน จนกระทั่งให้ข้อมูลย้อนกลับสำหรับครูผู้สอนได้อย่างต่อเนื่องหลังจากที่ครูทำการสอนเสร็จเป็นที่เรียบร้อย หรือตามความต้องการของครูผู้สอนได้ อันเพื่อจะให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ในแต่ละครั้งให้เกิดประโยชน์สำหรับผู้เรียนในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น