วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

คุณภาพเยาวชนไทยในยุคอาเซียนและศตวรรษที่ 21

วันนี้ผมมงคล สาระคำ จะมาพูดปาฐกถา หัวข้อ “คุณภาพเยาวชนในศตวรรษที่ 21” ซึ่งเป็นหัวข้อที่ 
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้พยายามสื่อสารให้สังคมไทยได้ตื่นตัวในการก้าวเข้าสู่ความเป็นอยู่ในศตวรรษที่ 21 รวมกับสังคมประชาคมอาเซียน ซึ่งถือได้ว่าเป็นความท้าทายเอามากๆที่จะมองถึงความเข้าใจของความเป็นอยู่ของลูกหลานของเราเพราะในอนาคตจะหลีกเลี่ยง 2 สังคมนี้ไม่ได้แน่นอน
 วันนี้เราจะมาพูดกันใน 3 หัวข้อ คือ
o ทำไมเด็กไทยศตวรรษที่ 21 ถึงเป็นเรื่องพิเศษ ถึงเป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจ
o คุณภาพของเยาวชนในยุคนั้นเป็นอย่างไร
o หัวใจสำคัญที่เราจะสามารถพาเขาบรรลุคุณภาพดังกล่าวได้อย่างไร
ก่อนอื่นผมจะพาทุกคนเข้าใจในลักษณะในยุคปัจจุบันก่อน ซึ่งยุคนี้เป็นยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็ว และจะมีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเรื่อยๆ เป็นยุคที่พลิกผัน คาดเดายาก คือ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร เยาวชนที่อายุ 20 ไม่รู้ว่าเมื่อตนอายุ 60 สังคมจะเป็นอย่างไร ขณะที่ความรู้เป็นของหาง่าย ที่สำคัญคือความรู้มีหลายชุด บางชุดถูก บางชุดผิด โลกมีความซับซ้อน เราต้องตรวจสอบว่าความรู้ชุดไหนที่เหมาะสม นำมาใช้กับสถานการณ์นั้นๆ ได้ สมัยก่อนความรู้หายาก คนที่จะเป็นประโยชน์กับเราคือ ครูเท่านั้นที่จะให้ความรู้ ต่างจากสมัยนี้ที่มีแหล่งความรู้มาก เพราะฉะนั้นครูต้องเป็นผู้ที่สอนให้เรารู้ ว่าจะใช้ความรู้อะไร และใช้อย่างไร ครูที่มีคุณค่าสมัยนี้ไม่เหมือนครูที่มีคุณค่าสมัยก่อน เพราะสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป นี่คือหัวใจของศตวรรษที่ 21 คนจะเปลี่ยนแปลงไป
สมัยก่อนเด็กจะถูกหล่อหลอมจากพ่อแม่มาก ชีวิตพ่อแม่เอามาสอนลูกได้ สมัยนี้ไม่ได้แล้ว เด็กจะถูกหล่อหลอมอีกแบบ สมัยนี้พ่อแม่และลูกมี Generation Gap มากขึ้น วิธีคิดไม่เหมือนกัน เพราะนี่คือการเปลี่ยนยุค เปลี่ยนความคิดของคน เด็กสมัยนี้ถูกหล่อหลอมโดยลัทธิวัตถุนิยม อยู่ในภาวะชีวิตที่มีความพร้อม มีวัตถุแวดล้อม ไม่ได้เรียนรู้จากความลำบาก อยากได้อะไรก็ได้ พ่อแม่ปู่ย่าตายายคนในบ้านรุมโอ๋ เอาใจ ต่างจากสมัยก่อนที่ครอบครัวไม่มีความพร้อม
ในสมัยนี้ มีเรื่องดึงดูดความสนใจมากเรื่อง เด็กขาดสมาธิในการเรียน ที่ร้ายแรงคือ เด็กสมัยใหม่ขาดแรงบันดาลใจ เพราะผู้ใหญ่สอนให้เขาเชื่อมาตั้งแต่เด็ก เด็กไม่ได้รับการฝึกให้รู้จักตัวเอง ให้ค่อยๆ รู้ว่าตัวเองอยากทำ อยากเป็นอะไร มีความถนัดหรืออ่อนเรื่องอะไร เด็กไม่รู้ตัว ทำให้ไม่มีแรงบันดาลใจ และเพราะเขาไม่มีแรงกดดัน ทำให้เขาไม่ต้องผลักดันตัวเอง เพราะทุกอย่างมีพร้อมให้หมด หรือในกรณี เด็กในชั้นเรียนมีความแตกต่างกันมาก เช่น เด็กบางคนอยู่ ม.3 มีความรู้ภาษาอังกฤษดีกว่า ม.5 แต่เด็ก ม.3 บางคนเหมือนเด็ก ม.1 เป็นต้น เกิดมีเด็กเก่งและเด็กอ่อนในวิชาหนึ่งๆ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

เราอยากได้เด็ก แบบไหน ในศตวรรษที่ 21 ที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองและสังคม
เยาวชนที่ดีในศตวรรษที่ 21 คือคนที่พัฒนาตนได้ใกล้เคียงศักยภาพที่มีอยู่มากที่สุด มีการพัฒนาพหุปัญญารอบด้าน ขณะนี้ประเทศไทยพัฒนาเฉพาะปัญญา ไม่ได้พัฒนาอารมณ์ จิตใจ โดยธรรมชาติมนุษย์เรามีศักยภาพทั้งด้านดีและด้านชั่ว มีทั้งด้านบวกและด้านลบ การศึกษาต้องหนุนศักยภาพด้านดี และพยายามลดทอนศักยภาพด้านลบ หัวใจสำคัญคือเพื่อให้เด็กเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับอาทิ การเรียนรู้ผ่านกระบวนการกลุ่ม ทำให้เด็กฝึกทักษะการให้และรับ กระบวนการเรียนรู้ยุคใหม่ เด็กเป็นผู้สร้างมากกว่าผู้เสพหรือเป็นผู้ที่มาดูดซับความรู้ เด็กจะมีศักยภาพงอกงามสร้างสรรค์เรื่องราวต่างๆ ติดตัวไป โดยสิ่งที่เด็กต้องฝึกให้ได้คือ ทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ที่หมายถึงเด็กเรียนวิชาความรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องเลยไปจากความรู้ไปถึง ทักษะใหญ่ๆ มี 3 ชุด คือ ทักษะวิชาชีพ ซึ่งบ้านเราเน้นมาก แต่ที่สำคัญกว่าคือ ทักษะชีวิต (life skills) ซึ่งเป็นทักษะที่ทำให้เยาวชนสามารถเอาตัวรอดในสังคมได้ ต่อมาคือ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะนี้สอนไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องฝึก เด็กต้องฝึกเอง ครูมีบทบาท มีทักษะในการตั้งคำถาม และสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนเกิดความอยากทำ  จนเกิดเป็นชิ้นงานสร้างสรรค์ได้ และทักษะสุดท้ายคือทักษะ ICT หรือ ทักษะสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี ซึ่งยุคนี้มีข้อมูลมากมาย ทั้งกึ่งจริงกึ่งหลอก ต้องมีทักษะที่เท่าทัน
ถ้าถามว่า? การเรียนเพื่อให้เด็กได้ทักษะเหล่านี้ หรือทักษะทั้ง 3 ครบถ้วน การศึกษาต้องเปลี่ยน 4 อย่างต่อไปนี้ คือ
1.ตัวมาตรฐานและการประเมินผล คือมาตรฐานของการศึกษา ได้เรียนครบทุกด้าน ไม่ใช่เรียนแต่ตัวความรู้ การทดสอบปัจจุบันทดสอบเรื่องวิชาได้อย่างเดียว ทดสอบนิสัยและอารมณ์ไม่ได้ แต่ครูทดสอบได้ ประเทศที่การศึกษาดี เขาจะเชื่อครู เขาจะมอบอำนาจให้ครูเป็นผู้ประเมิน แต่บ้านเราจะเป็นคนละอย่าง
2. หลักสูตรและการสอน ต้องเปลี่ยนจากผู้ถ่ายทอดความรู้ไปสู่การให้ลูกศิษย์เป็นผู้ลงมือทำ ครูเปลี่ยนจากสอน มาเป็นผู้ออกแบบกระบวนการ มองตามพื้นความรู้ของเด็ก และเป้าหมายการเรียนรู้ และเอื้ออำนวยให้กระบวนการเรียนรู้ดำเนินการ เด็กเกิดทักษะ โดยครูเป็นโค้ชและคุณอำนวยให้เด็กเรียนรู้ ทำและไตร่ตรองใคร่ครวญ จนเกิดการเปลี่ยนแปลง
3.การพัฒนาครู วิธีพัฒนาครูปัจจุบันผิด 80 เปอร์เซ็นต์ ถูก 20 เปอร์เซ็นต์ คือ จับครูมาฝึกอบรม เข้าเวิร์คช็อป แต่การพัฒนาครู 80 เปอร์เซ็นต์ต้องอยู่ในห้องเรียนของนักเรียน ต้องเรียนจากการทำหน้าที่ครูในห้องเรียน จัดกระบวนการขึ้นมาให้ครูได้ฝึก อีก 20 เปอร์เซ็นต์ เขาขาดตรงไหน ค่อยมาจัดฝึกให้นอกห้องเรียน
4.สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ต้องเปลี่ยน มนุษย์เราเกิดมามีธรรมชาติต้องการเรียนรู้ ถ้าสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดี บรรยากาศเอื้อ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็วมาก โดยเฉพาะเด็ก เพราะฉะนั้นบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี คือ มีอิสระ อิสระจากความกลัว กลัวจากการถูกหาว่าโง่ เพี้ยน ผิด โดยวิธีการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบนี้ จะว่าง่ายก็ง่ายมาก แต่หากจะว่ายากก็ยากมาก เพราะเกิดจากมิจฉาทิฐิด้านการศึกษา อาทิ หนึ่งคำถามมีเพียงหนึ่งคำตอบ แต่การศึกษาที่ถูกต้องคือ ควรส่งเสริมให้เด็กสามารถตอบคำถามได้มากกว่าหนึ่งคำตอบต่อหนึ่งคำถาม นั่นจะทำให้เด็กมีปัญญา เมื่อครูตั้งคำถามมาแล้วเด็กคนที่หนึ่งตอบ ประโยคต่อมาของครูจึงควรถามว่าใครมีคำตอบที่ต่างจากนี้บ้าง ?” บรรยากาศการเรียนรู้จะเกิดขึ้นทันที
ซึ่งการเรียนรู้ของเราทุกวันนี้ ต้องเป็นไปในแบบ Active Learning โดยเวลาเรียนเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ในพื้นที่ ในชุมชน ในบริบทจริง ที่สำคัญ การเรียนรู้ หากไม่ระวัง จะทำให้หยุดอยู่แค่ขั้นที่ 1 Informative Learning ได้ Information แต่ไม่ได้ทักษะ ซึ่งไม่พอ ต้องเลยไปสู่ Formative Learning มีการปฏิสัมพันธ์กัน มีการปะทะสังสรรค์แล้วเกิดค่านิยมร่วมของกลุ่มวิชาชีพ แต่ก็ยังไม่พอ ต้องเรียนให้ไปสู่ Transformative Learning คือเพื่อให้ได้คุณสมบัติภาวะผู้นำไม่ใช่การไปเป็นหัวหน้าใคร แต่คือการไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพราะศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนแปลงเร็ว หากเด็กไม่มีคุณสมบัตินี้ ก็จะเป็นผู้ตาม ไม่ช้าเขาจะถูกเปลี่ยนแปลงและชีวิตจะยากลำบากเพราะตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน เขาต้องสามารถควบคุมและมองภาพการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ จากนั้นเข้าก็จะสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงได้มาดูการเรียนรู้ที่ทำให้รู้จริง                (Mastery Learning) มี 4 ขั้นตอน
1.       ในเรื่องนั้นตัวเองทำไม่ได้ และไม่รู้ตัวว่าทำไม่ได้ ไม่รู้ว่ามีเรื่องนั้นอยู่หรือเปล่า
2.      รู้แล้วว่าเรื่องนั้นมี แต่รู้ว่าตัวเองทำไม่ได้
3.      รู้ว่าตัวเองทำได้ แต่ต้องตั้งสติ ทำบ่อยๆ
4.      ทำได้โดยไม่รู้ตัว คือทำได้โดยอัตโนมัติ คือ การเรียนรู้แบบรู้จริง (Mastery Learning)

เราจะบรรลุอย่างไร
ครูต้องสอนให้น้อย ให้เรียนรู้มาก Teach Less, Learn More ซึ่งเป็นอุดมการณ์การศึกษาของประเทศสิงคโปร์ ที่ยึดหลักการนี้ทั้งครูและศิษย์ คือ เปลี่ยนห้องสอนเป็นห้องเรียน ห้องเรียนต้องเปลี่ยนเพื่อสร้างทักษะที่จำเป็น คือทักษะ 3 1 ว คือ 1.ทักษะแรงบันดาลใจ 2.ทักษะการเรียนรู้ 3.ทักษะความร่วมมือ และ 1 . คือ การมีวินัยในตนเอง ให้ 4 ตัวนี้เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเยาวชนภายในตัวเขาเอง
นักเรียนต้องเปลี่ยนจากผู้รับถ่ายทอด เป็นผู้สร้างความรู้ขึ้นในตน  ฝึกนักเรียนตั้งคำถามหลุดโลก หลักๆ ที่ทำกันส่วนใหญ่ คือ 5 Why หรือ 5 ทำไม ทำไม...ครูอาจให้เด็กมีส่วนร่วมในการสร้างสื่อความรู้ เช่น วิดีโอ เพื่อใช้ในห้องเรียนกลับทาง ซึ่งเด็กชั้นมัธยมฯ ก็มีความสามารถเพียงพอช่วยครูได้แล้ว ครูต้องฝึกสร้างแรงบันดาลใจมากกว่าการให้ความรู้ ต้องยั่วยุท้าทาย ชื่นชมในจุดที่ดี แนะให้แก้จุดอ่อน ชวนให้พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น คอยสังเกตปัญหาและดูผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนตลอดเวลา (Embedded Formative Assessment + Formative Feedback > Summative Evaluation) ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการศึกษา มีปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ คุณภาพครู และ ปฎิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครู
ในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมของสิ่งเหล่านี้คือการทำให้เกิดห้องเรียนกลับทาง (Flip the Classroom) ฝึกให้ผู้เรียนเตรียมเนื้อหาหรือทฤษฎีที่บ้าน แล้วเมื่อเกิดปัญหาอะไรให้นำมาพูดคุยและทำการบ้านที่ห้องเรียน เด็กใช้ความรู้ เรียนแล้วรู้จริง
สรุป
o ต้องมองเยาวชนต่างจากเดิม เยาวชนไม่ใช่ผู้มารับถ่ายทอดความรู้
o เป็นพลังของการสร้างสรรค์ ทั้งตอนเรียน และตอนดำรงชีวิตเป็นพลเมือง
o ฝึกความเป็นตัวของตัวเอง ร่วมมือ และเคารพผู้อื่น
o ฝึกยกระดับรอบด้าน ของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เฉพาะวิชาเรียน ปฏิบัติ เฉพาะในห้องเรียน

o ทั้งหมดนั้นทำโดยการลงมือ และคิดทบทวนไตร่ตรอง (Deep Reflection) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น