วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สอนแบบกั๊ก ดีกว่า สอนแบบไม่กั๊ก

สอนแบบกั๊ก ดีกว่า สอนแบบไม่กั๊ก
ใช่ครับคุณไม่ได้ตาฝาด ย้ำอีกครั้งก็ได้ว่า “สอนแบบกั๊ก ดีกว่า สอนแบบไม่กั๊ก” ตัวผมเคยสอนเด็กอยู่สองคน คนแรกเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนทวีธาภิเศก อีกคนเป็นเด็กนักเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนท์ เด็กสองคนนี้เป็นเด็กที่เรียนเก่งทั้งคู่ เด็กทวีธาภิเศกเป็นเด็กที่อยู่ห้องคิง และเป็นอันดับหนึ่งของระดับชั้นมาโดยตลอด สำหรับเด็กเซนต์โยเซฟ เป็นเด็กที่อยู่อันดับต้นๆของระดับ ที่ได้เกรดเฉลี่ย 4.00 มาโดยตลอด การสอนของทั้งสองคนนี้ผมสอน “แตกต่างกัน” คนแรกผมสอนเทคนิคที่ผมมีอยู่ในหัวทั้งหมดให้กับเค้า ส่วนคนสองผม “เลือก” ที่สอนเทคนิดบางอย่างให้กับเค้า หลังจากประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัย วิชาคณิตศาสตร์ เด็กคนแรกได้ 65 คะแนน เด็กคนที่สองได้ 92 คะแนน เกิดอะไรขึ้น?? จากข้อสรุปง่ายๆอย่างหนึ่งที่ผมต้องการจะบอกคือ ในบางครั้งการสอนทั้งหมด แทนที่จะเป็นผลดีกับเด็ก แต่เป็นผลเสียมากกว่า เพราะ เมื่อถึงเวลาจริง เด็กคนนั้นจะเอาไปใช้ไม่ได้เลย และจะสับสนมากกว่าที่จะสามารถทำข้อสอบได้อย่างรวดเร็ว ก็คงไม่ต่างจาก โดเรม่อน ที่เวลาคับขัน ก็มักจะควักของวิเศษมากมายมากองไว้ตรงหน้า แล้วก็ใช้ไม่ได้ซักกะอัน
อย่างไรก็ตาม การสอนแบบกั๊ก จะต้อง “สอนครบ” หมายความว่า หัวข้อจะต้องไม่กระโดด มีความต่อเนื่อง และค่อยๆสอนเทคนิคที่ “เหมาะสม” กับเด็กแต่ละคนไป บางคนอาจจะไม่สอนเทคนิค อะไรเลย บางคนอาจจะสอนแค่บางอย่าง จะตราหน้าผมว่าเป็น “ไอ้กั๊ก” ก็ได้ ผมไม่ว่าครับ แต่จากประสบการณ์สอนพิเศษ กว่าสิบปีของผม บอกว่า “เด็กแต่ละคน ย่อมรับกับของบางอย่างเท่านั้น ที่เหมาะกับเค้า” ติวเตอร์บางคนเห็นว่า เด็กหัวไม่ดี จะต้องเอาแบบฝึกหัดยากๆ เยอะๆ เทคนิคเพียบ มาให้ทำ บอกได้เลยครับว่า ถ้าสอนแบบนั้น เด็กจะไม่ได้อะไรกลับบ้านไปเลย ผมรู้สึกเห็นใจติวเตอร์บางท่าน ที่ตั้งใจสอน เตรียมการสอนมาเป็นอย่างดี หวังว่าจะให้ลูกศิษย์ได้ความรู้อย่างเต็มที่ และเมื่อเริ่มการสอนพิเศษ ในครั้งแรกๆโดยการ สอนๆๆๆๆๆๆ และสอนๆๆๆๆ แต่ท้ายสุดกลับ เจ็บใจกับคำพูดที่ตอบกลับมาว่า “อาจารย์พูดอะไรไม่รู้เรื่องเลย”
วัฒนธรรมอย่างหนึ่งของ อาจารย์คนไทย (มักจะพบได้กับอาจารย์จบใหม่ ไฟแรง) คือ “สอนทุกอย่าง ในสิ่งที่ตนเองรู้ทั้งหมด ให้กับลูกศิษย์” ซึ่งผมมองว่า มันไม่ดีเลย สำหรับผู้ที่ได้อ่านบทความนี้ของผม (ต้องขอขอบคุณ กูเกิ้ล) ช่วยๆกันเปลี่ยนใหม่ดีกว่าไหมครับ “สอนทุกอย่างให้กับลูกศิษย์ ในแบบที่เค้าควรจะรู้”

สอนถูกใจนำ สอนถูกต้องตาม
หลายท่านอาจจะดูงงๆ เปลี่ยนเป็นคำพูดใหม่ “นอกเรื่องนำ วิชาการตาม” หัวข้อนี้เป็นวิธีการสอนที่เหมาะอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับเด็กแสบๆที่ไม่ตั้งใจเรียน หรือเด็กเล็กที่มีสมาธิสั้น มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสสอน พิเศษเด็กคนหนึ่งที่จัดว่า แสบ มาก ไม่มีติวเตอร์สอนพิเศษคนไหนเอาอยู่ เปลี่ยนติวเตอร์มาแล้วทั้งสิ้น 5 คนในหนึ่งปี ในการสอนครั้งแรกของผม ผมเริ่มด้วยการคุยทั้งสองชั่วโมง คุยในเรื่องที่เค้าชอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกมส์ เรื่องหนัง เรื่องเพลง เรื่องฟุตบอล ทุกๆเรื่องที่จะขุด เสาะแสวงหามาคุย คุยอยู่สองชั่วโมง จนไม่ได้สอนอะไรเลย แล้วก็เมื่อถึงเวลา ก็แยกย้ายกลับบ้านไป (ผมคิดเงินด้วยนะ ค่าจ้างที่ผมมานั่งคุยน่ะ) ผมอยากจะถาม ผู้อ่านทุกท่าน ผมสอนดีไหม?? ส่วนใหญ่น่าจะเป็นการมองว่า เสียเวลาเด็ก เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสอนดีหรือเปล่า รู้แต่เพียงว่า ผมสอนพิเศษเค้ามาสามปี จนเข้ามหาวิทยาลัยได้ ไม่เคยเปลี่ยนติวเตอร์ แล้วก็โดดน้อยมาก ว่างๆก็จะแวะมาหาผม ชวนไปกินข้าว ตกลงผมสอนดีหรือเปล่าล่ะ?? เด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน เด็กแสบ เด็กเฮี้ยวทั้งหลาย จะมีสิ่งหนึ่งที่มากกว่าเด็กทั่วไปคือ “กำแพงกั้นระหว่างครู กับลูกศิษย์” กำแพงนี้เป็นกำแพง ที่เราไม่สามารถลดได้ แต่เราสามารถทำให้เค้า ลดลงมาด้วยตัวเค้าเอง การสอนที่จะทำให้เค้าลดกำแพงลงคือ “ทำให้เค้ารู้สึกว่า เราเป็นครูที่น่าเคารพ” ไม่ใช่ “อาจารย์ที่ต้องเคารพ” และเมื่อใดก็ตามที่เค้าลดกำแพงลง เค้าจะพร้อมที่จะเปิดใจ รับฟังคำพูดทางวิชาการที่เราจะใส่ลงไปให้เค้า สำหรับการสอนในครั้งที่สอง ผมนอกเรื่องอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นผมก็เริ่มสอน “วิชาการแบบง่าย” ซึ่งในการสอนพิเศษ เด็กคนนี้ในครั้งต่อๆไป ผมจะคุยนอกเรื่องลดลง วิชาการมากขึ้น จนผ่านไปได้ระยะหนึ่ง ผมเริ่มด้วยวิชาการไปเลย และเพิ่มความยากขึ้นตามลำดับ การสอนก็ประสบความสำเร็จ ไปด้วยดี
อย่างไรก็ตามการสอนพิเศษด้วยวิธีนี้ มักจะใช้ไม่ได้ผลเลยกับเด็กที่ตั้งใจจะมาเรียนอย่างเดียว ดังนั้น บางครั้ง อาจจะใช้ วิชาการนำ นอกเรื่องตาม ก็เป็นไปได้นะครับ ปรับเปลี่ยนไปตามอุปนิสัยของเด็ก แต่สิ่งที่อยากจะเตือนไว้ คือ “อย่าให้เด็กนอกเรื่องทุกครั้ง และเนิ่นนานเกินไป” เพราะจะทำให้เด็กไม่ได้อะไร เสียเวลา และเสียเงิน ในตรงจุดนี้ตัวติวเตอร์ ต้องคอยดึงเด็กให้กลับมาด้วย อย่าปล่อยให้เลยตามเลย
วิชาเกินนำ วิชาการตาม
ก่อนที่จะลงรายละเอียดในหัวข้อนี้ ลองมาดูคำพูดบางอย่าง 2 แบบ ดังต่อไปนี้ก่อนนะครับ
แบบที่ 1 “นิยามของสามเหลี่ยมมุมฉาก คือสามเหลี่ยมที่มีมุมหนึ่งเป็นมุมฉาก และมีด้านสามด้าน ซึ่งประกอบไปด้วย ด้านตรงข้ามมุมฉาก และด้านอีกสองด้าน เป็นด้านประกอบมุมฉาก ”
แบบที่ 2 “คุณสมบัติของสามเหลี่ยมมุมฉาก คือมันจะมีมุมนึงเป็นมุมฉาก มีด้านเอียงๆเป็นด้านที่ยาวที่สุด และมีอีกสองด้าน ที่แปะอยู่ที่มุมฉาก”
แบบที่ 1 “รู้ไหม cat เป็น noun”
แบบที่ 2 “รู้ไหม cat เป็น คำนาม”
แบบที่ 1 “มุมแหลมคือมุม ที่กางมากกว่า ศูนย์องศา แต่น้อยกว่า เก้าสิบองศา”
แบบที่ 2 “มุมแหลม มันก็เหมือนปลายดินสอที่มันแหลมๆนั่นแหละ”

จะเห็นได้ว่า ในแบบที่สอง การอธิบายอาจจะไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นคำอธิบายที่ง่ายแต่ความเข้าใจ นี่คือความหมายของคำว่า “วิชาเกิน นำ วิชาการ” วิชาเกินคือคำพูดที่อาจจะผิดหลักอยู่บ้าง แต่ก็ฟังง่าย จำง่าย วิชาการคือ คำพูดที่ถูกต้องเป๊ะตามหลักของวิชาการ ถึงแม้ว่าจะถูกต้อง แต่ฟังยาก จำยาก และเด็กก็จะไม่อยากจำด้วย สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะเห็นการสอน ของอาจารย์ที่สอนประจำโรงเรียน อาจารย์ที่จบใหม่ๆ หรืออาจารย์ที่มีอีโก้ แรงๆ (ประมาณว่า ข้าเก่งที่สุดในแผ่นดินสยาม) มักจะอธิบายการสอน ด้วยแบบที่ 1 แทบทั้งสิ้น ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะว่า เรียนมาแบบนี้ จึงสอนเด็กออกไปแบบนี้ อาจารย์บางท่าน เปิดเรื่องมาด้วยบทนิยามที่ซับซ้อน แล้วตอนจบล่ะ?? บอกได้เลยครับว่า ตัวอาจารย์จะไม่รู้สึกตัวเลย ว่าตัวเองสอนไม่รู้เรื่อง เพราะ พูดด้วยนิยามเป๊ะๆ นี่เป็นกับดักที่ น่ากลัวอย่างมากครับ เป็นกับดักของตัวอาจารย์เอง ทำมาดักตัวเอง ตัวผมเองเคยนั่งคุยกับลูกศิษย์ที่เรียน อยู่ที่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง เด็กบอกว่า อาจารย์สอนเลขที่โรงเรียนเขา สอนอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้เรื่องเลย เด็กทั้งห้องนั่งงง ได้แต่จดๆๆๆ แล้วก็จด ไปโดยที่ ไม่รู้ว่า อาจารย์บ่นอะไร ผมเอาชีทของเด็กคนนั้นมาดู ผมเลยรู้เลยว่า อาจารย์ท่านนี้ ยังอยู่ในวังวนของ “วิชาการ” อยู่เลย สิ่งที่ผมถามเด็กคนนั้นต่อ ก็คือ อาจารย์คนนั้น อายุเท่าไหร่เหรอ? เด็กบอกว่า อายุประมาณ 50 กว่าๆ ผมก็นึกในใจว่า “คงแก้กันยากแล้วล่ะ” หากมีใครไปบอก อาจารย์แกคง ยืนยันด้วยคำเดิมว่า “ข้าสอนดีเฟ้ย” เฮ้อ..... รู้สึกเหนื่อยใจแทนเด็กนักเรียน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากจะเตือน ติวเตอร์ที่สอนโดยเอาวิชาเกินนำ เพียงอย่างเดียว คงไม่ดีเท่าไหร่ เพราะท้ายสุด เด็กจะละเลย ความถูกต้อง ดังนั้น เมื่อใช้วิชาเกินนำ ทำให้เด็กเข้าใจ อย่าลืมตบท้ายด้วยวิชาการ ด้วยนะครับ สำคัญนะครับ “วิชาเกิน นำ วิชาการ ตาม”
สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ โดยเฉพาะติวเตอร์ที่สอนคณิตศาสตร์ คือ การพิสูจน์สูตรต่างๆ ไม่จำเป็นเท่าไหร่หรอกครับ เพราะเด็กไม่ได้เอาไปใช้ การสอนพิสูจน์ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ท้ายสุดก็เป็นการสอนที่เสียเวลา และ ทำให้เด็กสับสน ง่ายๆลองนึกถึง การทำ “ข้าวผัด” ถ้าอาจารย์มาสอนว่า ข้าวแต่ละเม็ด ประกอบไปด้วยโมเลกุลอะไรบ้าง น้ำตาล น้ำปลา ทำมาจากอะไร มีวิธีการทำแบบไหน มันคงงงน่าดู เพราะเด็กไม่สนใจหรอก รู้แต่ว่า ถ้าเอาข้าวมาผัด รวมกับหมู ใส่น้ำตาล ใส่น้ำปลา เครื่องปรุง และผักต่างๆ ออกมา “ขอให้อร่อยและกินได้” ก็พอ ผมเคยเห็นติวเตอร์ท่านหนึ่ง นั่งพิสูจน์ทฤษฎีบท ทางตรีโกณมิติอยู่ 2 ชั่วโมง เสียเวลา ไม่มีประโยชน์กับเด็กเลย สิ่งที่ผมย้ำก็คือ การพิสูจน์ไม่จำเป็นสำหรับเด็กทั่วๆไปเลย แต่หากเด็กนักเรียนต้องการรู้ที่มา ค่อยเอามาถามนอกรอบดีกว่า
หัวใจ... สำคัญกว่าแขนขา ภาพรวม... สำคัญกว่ารายละเอียด
ในสมัยก่อน เวลาผมสอนคณิตศาสตร์ ผมมักจะเริ่มบทใหม่ โดยใช้เวลาไม่นานนัก จากนั้น ก็รีบลงรายละเอียด ทันที ยกตัวอย่างเช่น ตอนผมสอนบท ภาคตัดกรวย ผมจะรีบลงรายละเอียด วงกลม พาราโบลา วงรี และ ไฮเปอร์โบล่า ผมใช้เวลานานพอสมควรในการ พูดถึงรายละเอียดปลีกย่อย ของกราฟแบบต่างๆ พอจบบท ผมย้อนถามเด็กๆว่า “กราฟมาจากอะไร......” นี่เป็นคำถามที่ง่ายที่สุด แต่เชื่อไหมว่า เด็กในห้อง ไม่มีใครตอบได้เลย.... ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ลองโยกไปในวิชาภาษาอังกฤษดูบ้าง เช่น ผมสอนโครงสร้างประโยค อย่างละเอียด สอนวลี แบบต่างๆ พอจบบท ผมถามเด็กกลับไปว่า “ประธาน คือ อะไร” แล้วเด็กตอบไม่ได้..... นี่คือหัวข้อที่ผมต้องการสื่อความหมายครับ
ติวเตอร์กว่าร้อยละ 90 มักจะสอนพิเศษ โดยมองข้าม “หัวใจสำคัญของแต่ละบท” ไม่ค่อยสนใจในภาพรวม ไม่สนใจว่า เรียนไปทำไม เพื่ออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร เมื่อสอนรายละเอียด ถึงแม้ว่าเด็กจะเข้าใจ แต่ผมต้องการบอกว่า “ถ้าไม่สอนภาพรวม เด็กจะไม่เข้าใจอยู่ดี” แล้วหากเน้นเจาะแต่รายละเอียดจะ มีข้อเสียอย่างไร?? ผมต้องการบอกว่า ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบัน รวมถึงข้อสอบแข่งขันในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบสมาคม ข้อสอบโอลิมปิค หรือข้อสอบชิงทุน ข้อสอบส่วนใหญ่ “เริ่มการแก้ปัญหาจากภาพรวม แล้วค่อยลงไปในรายละเอียด” หากเด็กไม่เข้าใจในภาพรวม เด็กจะทำข้อสอบได้น้อยกว่า ความสามารถของเขา จากจุดนี้ ในช่วง ห้าปีหลัง นี้มา ในระหว่าง ที่ผมสอนรายละเอียด ผมก็มักจะย้ำภาพรวม ไปในตัวด้วย อยู่เสมอๆ ด้วย การสอน แบบนี้ทำให้ เด็กนักเรียนของผม สอบได้คะแนนค่อนข้างดีทีเดียว สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะย้ำเพิ่มเติม คือ ผมเชื่อว่า “สูตรลัด มีประโยชน์ แต่ สูตรลัดที่มากไป จะกลายเป็นโทษมหันต์” ผมเห็นการสอนพิเศษที่สถาบันต่างๆ เช่นที่ สถาบัน J และ สถาบัน G (ไม่ขอเอ่ยนามนะครับ คิดกันเอง) สอนพิเศษแต่สูตรลัดๆๆๆๆๆๆ บางครั้ง คิดโจทย์ขึ้นมาเอง แล้วก็ใช้สูตรลัดของตัวเอง แล้วก็บอกว่ามันดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ท้ายสุดเด็กได้แต่จำ พอถึงเวลา เอาไปใช้อะไรไม่ได้ สร้างความสับสน แล้วก็จบกัน.... การสอนพิเศษแบบใช้สูตรลัด แม้ว่าจะทำให้ตื่นเต้น และสร้างความประทับใจให้กับเด็กอย่างมาก แต่ “หากคุณต้องการเป็นอาจารย์ที่ดี สูตรลัดระดับเทพของคุณ เก็บไว้บนหิ้งเถอะครับ” หากคิดอยากจะสอน เอาแบบลัดนิดๆ ทำให้วิธีคิดดูฉลาดขึ้น สามารถเอาไปใช้ได้จริง ในสถานะการณ์ส่วนใหญ่ อย่างนี้น่าประทับใจกว่า
สำหรับติวเตอร์บางท่าน อ่านตรงส่วนนี้ พอเข้าใจ แต่ก็อาจจะมีคำถามขึ้นมาในในว่า “แล้วไอ้หัวใจสำคัญที่ว่านี่ จะสอนยังไง” ลองมาดูตัวอย่างแบบนี้นะครับ ผมขอยกตัวอย่างในวิชาคณิตศาสตร์ ในบทเรื่อง “เรียงสับเปลี่ยนและการจัดหมู่“ แล้วกัน (บางคนอ่านไม่เข้าใจ ก็อย่าว่ากันนะครับ)

“สมมุติว่า ผมมีตัวอักษร อยู่สามตัวนะ เป็นตัวอักษร A ตัวอักษร B แล้วก็ตัว C อ้าววว ไหนลองเอาตัวอักษรสามตัวนี้ มาเขียนเรียงสลับกันไปมา ซิ ว่ามันจะได้กี่แบบ ลองนับดูๆ จะได้ ABC แล้วก็ ACB แล้วก็ BAC แล้วก็ BCA แล้วก็ CAB แล้วก็ CBA มีอีกไหมหว่า???? หมดแล้วเน๊อะ ทั้งหมด ก็นับได้ 6 แบบ เน๊อะ”
“อะ คราวนี้ ถ้าผมมีตัวอักษร ห้าตัว เป็นตัวอักษร A,B,C,D และ E ถ้าเอามาเรียงสลับกันไปมา แล้วมันจะได้กี่แบบหว่า???? โห... มันคงเยอะน่าดูเลยอะ งานนี้มานั่งนับแบบเดิมคงไม่ไหว มันก็ต้องมีวิธีการคำนวณใช่มะ?? เราก็เลยต้องมาเรียนบท เรียงสับเปลี่ยนและการจัดหมู่ยังไงล่ะ”

พอจะเห็นอะไรจากคำพูดข้างต้นของผมไหมครับ??? ผมกำลังจะบอกกับนักเรียนว่า “หัวใจสำคัญของบทนี้ คือวิธีการคำนวณว่า มันมีกี่แบบ ไม่ใช่การมานั่งนับแบบเดิมๆ” หลังจากที่ผมอธิบาย ภาพรวมของเนื้อหาเรียบร้อยแล้ว เมื่อผมลงรายละเอียด ย่อยๆลงไป ผมเชื่อว่า เด็กก็ยังไม่หลุด เพราะเค้าก็ยังเชื่อว่า ไม่ว่าจะลงรายละเอียดแค่ไหน มันก็ยังคงอยู่ในเนื้อหาแบบเดิมๆ คือ “วิธีการคำนวณว่า มันมีกี่แบบ ไม่ใช่การมานั่งนับแบบเดิมๆ”
ข้อต่อ ทำให้ เคลื่อนที่ได้อย่างนุ่มนวล
หลังจากที่ผมพูดถึง ความสำคัญของหัวใจ กันไปในหัวข้อที่แล้ว คราวนี้ผมจะมาพูดถึง “รายละเอียด” กันบ้าง แน่นอนว่า การสอนหนังสือ ให้เด็กเข้าใจอย่างครบถ้วน ก็ต้องลงรายละเอียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะลงรายละเอียด แต่ “จำเป็นต้องเชื่อมต่อรายละเอียดของแต่ละอันด้วย” ไม่ใช่ พูดขึ้นมาลอยๆ พอจบ ก็ลงรายละเอียดอันใหม่ แล้วก็จบไปทีละอันๆ อย่างนี้ ก็จบข่าวเลยครับ ในหัวข้อนี้ผม ไม่ต้องการอธิบายยืดเยื้อ เรามาลองดูตัวอย่างกันเลยดีกว่า ผมขอยกตัวอย่างในวิชาคณิตศาสตร์เช่นเคยนะครับ เป็นบท “จำนวนเชิงซ้อน” ก็แล้วกัน

“ไอ้จำนวนเชิงซ้อน ฟังดูแล้วมันก็ดูยากๆพิกล เอางี้...จำนวนเชิงซ้อน มันก็คือจำนวน นี่แหละ”
“แล้วไอ้ จำนวน ที่เราเรียนกันมาตั้งแต่ ตัวเท่าลูกแมว มันเอาไว้ทำอะไรกันบ้างล่ะ แน่นอนว่า มันก็ต้องเกี่ยวกับ การบวก ลบ คูณ แล้วก็ หารใช่มะ???? ซึ่งถ้ามัน บวก ลบ คูณ หาร กันได้ ไอ้จำนวนเชิงซ้อนที่ว่าเนี่ย มันก็ต้อง บวก ลบ คูณ หารได้เหมือนกันแหละ เพราะมันก็คือ จำนวน เหมือนกัลลลลล”

อ่านดีๆนะครับ เห็นสั้นๆ แต่ความหมายลึกซื้งนะครับ อย่างแรก ผมสอน “หัวใจสำคัญ” นั่นคือ จำนวนเชิงซ้อน ก็ยังคงเป็นจำนวนที่เราเคย รู้มาตั้งแต่เด็ก อย่างที่สอง ผมกำลัง “เชื่อมต่อ” ระหว่างจำนวนธรรมดา กับ จำนวนเชิงซ้อนว่า มันมีคุณสมบัติ ของการ บวก ลบ คูณ และ หาร ด้วย
ในช่วง เจ็ดปีมานี้ ผมไม่เคยเตรียมการสอนเลย หลายคนอาจจะคิดในใจว่า เออ... เอ็งมันเก่ง อย่าเพิ่งเข้าใจผมผิดครับ ผมอยากจะบอกว่า “เตรียมคำพูด สำคัญกว่า การเตรียมสอน” ทุกครั้งที่ผมจะสอนพิเศษ ผมจะมานั่งเงียบๆคนเดียว คนทั่วไปมองว่า ผมนั่งเฉยๆ แต่ที่จริงแล้ว ผมกำลังเตรียมคำพูดที่กลั่นกรองว่า “จะพูดให้ง่ายทำยังไง จะเชื่อมต่อทำยังไง จะอธิบายภาพรวม ทำยังไง” มากกว่า ถึงแม้ว่า ผมจะสอนพิเศษมาสิบกว่าปีแล้ว ผมก็ไม่เคยละเลยที่จะทำแบบนี้ ดังนั้น อย่าเพิ่งมองผมแต่ภายนอกครับ ผมยังเตรียมทุกวันครับ แต่ไม่ใช่การเตรียมการสอน แต่ “เตรียมคำพูด” ครับ
เด็กบางประเภทที่ไม่ควรสอน
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เกิดจากประสบการณ์ตรงของผมเอง แน่นอนว่าทุกวันนี้ชีวิตการสอนหนังสือของผม ก็ไม่ได้ราบรื่นตลอด หลายคนที่อ่านบทความ นี้อาจจะมองว่าผมเป็นครูตัวยง ที่สอนเด็กได้ทุกประเภท คำตอบคือไม่ใช่ ผมมักจะเลี่ยงกับเด็ก หรือผู้ปกครองบางประเภท เพราะผมก็ไม่อยากที่จะปวดหัว และอายุสั้น ผมคิดว่าผมควรจะเก็บอายุของผมไว้สอนเด็กคนอื่นๆได้อีกมาก เด็กประเภทที่ผมจะไม่สอนจะมีดังต่อไปนี้
มารยาททราม ผมเคยสอนเด็กคนหนึ่งเป็นเด็ก ม.4 ผู้ชาย อยู่โรงเรียนชื่อดังในเครือคาธอลิค เวลาเด็กคนนี้โมโห เมื่อเวลาเค้าพูดกับแม่ของเค้า จะใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า กู..... ในขณะที่เค้าใช้สรรพนามเรียกแม่ของเค้าว่า มึง..... คงไม่ต้องมานั่งบอกเหตุผลนะครับ ว่าทำไมผมไม่สอน และเด็กที่มีบางอาการที่เรียกว่า นั่งด่าอาจารย์ที่โรงเรียนให้ฟัง ใช้สรรพนามว่า อีนี่แม่ง.... ไอ้นั่นแม่ง.... โอ้โห ตัวเองละก็ดีตายเลย โอเคครับ (มึง) กลับบ้านไปเถอะครับ!!
กบในกะลา ชาล้นถ้วย ป่วยไม่รักษา เด็กที่มีอาการเป็นกบในกะลามักจะมีคำพูดติดปากว่า ตรงนี้ผมรู้แล้ว ตรงนั้นผมรู้แล้ว อ๋อ ตรงนี้ผมเก่ง ตรงนี้ข้ามไปก็ได้ครู ผมได้แล้ว เวลาผมเจอคำพูดเหล่านี้บ่อยๆ ผมมักจะหยิบข้อสอบ PAT 1 ออกมาแล้ววางไว้ตรงหน้าเด็ก แล้วพูดออกไปว่า “งั้นเราทำตรงนี้ให้ดูหน่อยสิ” ซึ่งเด็กส่วนใหญ่มักจะทำไม่ได้ สำหรับอาการกบในกะลา กับชาล้นถ้วยมักจะมีอาการคล้ายๆกัน แต่ชาล้นถ้วยคือ ไม่ค่อยยอมรับ ยอมฟังวิธีอื่นๆ ที่สามารถทำความเข้าใจได้ดีกว่า มักจะมีคำพูดติดปากว่า “ไม่เห็นกับที่โรงเรียนสอนเลย” หรือไม่ก็ “ไม่มีสูตรลัดหรือครู” อะไรทำนองนี้ งั้นน้องก็ไปเรียนสูตรลัดกับครูที่โรงเรียนน้องเหอะนะ อย่ามาเรียนกับครูเลย !! สำหรับในสามอาการข้างต้น อาการป่วยไม่รักษา ดูจะน่ากลัวที่สุด เพราะมันจะเป็นอาการของคนที่ขี้เกียจ แต่จะมาให้เราสอนให้เก่ง ให้สอบผ่าน บอกได้เลยว่า “มันเป็นไม่ได้” คำว่ารักษานั้น หมายถึง การรักษาด้วยตัวเอง นั่นคือ หากคนไหนรู้ตัวว่าตนเองขี้เกียจ แต่ไม่ยอมแก้ด้วยตัวเอง จะไปให้คนอื่นแก้ ไม่มีทางเป็นไปได้ เต็มที่ก็ทำได้แค่ให้อาการทรงๆ ไม่ให้ทรุดลงไปกว่านี้ ฮ่วย ข้าไม่ใช่เทวดานะเฟ้ย การสอนพิเศษที่ดีและเห็นผลชัดเจน คือจะต้องเป็นแบบ พบกันครึ่งทาง หมายความว่า ผู้สอนก็ต้องตั้งใจสอน และผู้เรียนก็ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง ขยัน และค่อยๆมีความตั้งใจเพิ่มมากขึ้น เด็กแบบนี้ ต่อให้ซื่อบื้อแค่ไหน ผมสอนตายเลยครับ
พ่อ แม่ ที่คิดว่าลูกตัวเองเป็นเทพจุติ ผมเคยสอนเด็กคนหนึ่งเมื่อกลางปี 53 พ่อ แม่ ของเค้ามาหาผมที่สถาบัน บอกว่าช่วยสอนลูกเค้าให้หน่อย เพราะได้คะแนนสอบ PAT ในครั้งที่หนึ่งออกมาน้อยมาก ถ้าจำไม่ผิด น่าจะได้ประมาณ หกสิบกว่าๆ เต็มสามร้อย พ่อ และ แม่ของเด็กคนนั้น บอกว่าให้ใช้เวลาที่เหลือประมาณหนึ่งเดือนกว่า ช่วยติวลูกเค้าให้ทันในการสอบในครั้งที่สองของปี (ในสมัยก่อน การสอบ PAT จะสอบปีละสามครั้ง โดยจะเป็นช่วงมีนาคม ปลายกรกฎาคม และต้นตุลาคม) โดยคำถามแรกที่แม่ของเค้าถามผมได้ถามว่า จะต้องติวกี่ชั่วโมงถึงจะจบ? ซึ่งตัวผมก็ตอบไปแบบกลางๆคือประมาณ 100 ชั่วโมง แม่เค้าบอกว่าจะให้ลูกเค้าติวในวันเสาร์ อาทิตย์ ทั้งวัน วันละ 7 ชั่วโมง เวลาที่เหลือก็น่าจะ สอนได้เนื้อหาประมาณครึ่งหนึ่ง คะแนนคงจะขึ้นมาอีก !!? อนิจจางานเข้าเลย เด็กคนนี้เป็นเด็กต่างจังหวัด เรียนเลขที่โรงเรียนได้เกรด 3.5-4 มาโดยตลอด พ่อ และ แม่เข้าใจว่าลูกตัวเองเก่ง แต่สิ่งที่เค้าเข้าใจ อย่างกับ ฟ้ากับเหว เด็กคนนี้ยังทำเนื้อหาของสมการที่อยู่ ม.3 ยังครึ่งๆกลางๆอยู่เลย เวลาบวกเลข ยังเอานิ้วขึ้นมานับ อ่านโจทย์ยังตีความไม่ได้เลยซักข้อ การเรียนวันละ 7 ชั่วโมง ผมอยากจะบอกว่า แค่ชั่วโมงแรก ก็เอ๋อไปไหนไม่เป็นแล้ว ผมใช้เวลานานพอสมควรที่จะค่อยๆปูพื้นฐานให้ใหม่ ดังนั้นเวลาที่เหลือ จึงสอนได้เพียงแค่สองบท เท่านั้น คะแนนในการสอบออกมาได้ประมาณ ห้าสิบกว่า เมื่อผู้ปกครองรู้ดังนั้น จึงโทรมาถามผม พร้อมกับผมทำนองตัดพ้อว่า คงต้องเลิกเรียนกับผม เพราะคะแนนลูกเค้าลดลง ผมรู้สึกโล่งใจมาก ซึ่งผมก็คิดในใจว่า ก็ดีเหมือนกันกับผู้ปกครองบางประเภทที่คิดว่าลูกตนเองเป็นเพชร แล้วก็เอาดินก้อนหนึ่งมาโยนให้แล้วบอกว่า ช่วยจาระไนเพชร (ดิน) เม็ดนี้ให้เสร็จภายในเวลาสองเดือน ฮ่วย ไปเรียนกับปรมาจารย์ตั๊กม้อเถอะ
จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กเข้าใจมากน้อยแค่ไหน?
ผมเชื่อว่าติวเตอร์หลายท่าน โดยเฉพาะติวเตอร์ใหม่ๆนั้น ย่อมไฟแรงกันทุกคน บางคนอธิบายอย่างสุดชีวิต นั่นคือ พูดอย่างเดียว และถามเป็นอยู่คำถามเดียวว่า "เข้าใจไหม" เมื่อเด็กพยักหน้าก็อธิบายต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็กลับมาตั้งคำถามแบบเดิมอีกไปเรื่อยๆ พูดง่ายๆว่า ถ้าเด็กส่ายหัวก็อธิบายใหม่ นักเรียนพยักหน้าก็อธิบายต่อ สรุปคือมีสองแบบได้แก่ ส่ายหัวกับพยักหน้า การกระทำแบบนี้เป็นการกระทำที่อาจจะทำให้ ติวเตอร์หลายๆท่าน เด็กหลุดได้อย่างง่ายๆ เพราะเด็กไทย มักจะมีนิสัย (จะว่าเป็นสันดานก็คงได้) ว่า "แม้ว่าข้าไม่รู้แต่ก็ต้องพยักหน้าไว้ก่อน" บางคนก็จะออกอาการเงียบเข้าไว้ อย่ามายุ่งกับข้า ดังนั้น ขอเแนะนำวิธีการอีกสองอย่างที่อาจจะเอาไปประยุกต์ใช้ กับหลายๆท่านได้คือ
1. ให้ทำแบบฝึกหัด อันที่จริงวิธีนี้เป็นวิธียอดฮิต ที่ติวเตอร์หลายๆท่านทำกัน นั่นคือ ถ้านักเรียนทำได้ ก็แสดงว่าเข้าใจ แต่ ถ้าทำไม่ได้ก็หมายถึงไม่เข้าใจ วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีมากกครับ เพราะ จะได้เช็ค และให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดไปในตัว แต่ผมมองว่าบางทีก็ช้าไปกว่าจะรู้ได้ว่านักเรียนคนนั้น เรียนไม่รู้เรื่อง
2. ให้นักเรียนอธิบายสิ่งที่เราสอนไป วิธีนี้เป็นวิธีที่ผมใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะจะรวดเร็วทันใจเลยก็ว่าได้ ว่ารู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง นั่นคือ ทุกครั้งที่เราสอนอะไรไปซักหัวข้อหนึ่ง เราจะต้องให้นักเรียนอธิบายเรากลับมาว่า สิ่งที่เค้ารู้เรื่องนั้น เค้ารู้เรื่องอะไรแค่ไหน สรุปให้เราฟัง บางทีถ้าเค้ายังไม่เข้าใจ ก็จะอธิบายไม่ค่อยได้ หรืออธิบายออกทะเลไปเลย แต่อย่าหวังว่าเค้าจะอธิบายได้ออกมาร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นหน้าที่ของเราก็คือ ให้เราอธิบายภาพรวมสรุป กำกับไปอีกครั้งหนึ่งด้วย
อย่าตอบคำถามที่ไม่ควรตอบ
จะว่าไปแล้วการที่เราเป็นครูไม่ต่างอะไรกับอาชีพไกด์ ที่จะต้องพานักท่องเที่ยว (นักเรียน) ไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ไม่เคยไป นักท่องเที่ยวบางคนเคยไปแล้วไปอีกในบางสถานที่ (มัน) ยังจำไม่ค่อยได้เลยว่า อ๊ะ!!! นี่ตูเคยมาแล้วเหรอฟระ!? แต่การที่เราจะเป็นไกด์ได้นั้น แน่นอนว่าจะต้องไปในสถานที่ต่างๆมาพอสมควร ที่จะหลับตาบรรยายให้เห็นภาพได้ สำหรับนักท่องเที่ยวบางคน (แค่บางคน) จะถามเอาไว้ก่อนว่า ที่นั่น ที่นี่ เป็นอย่างไร หากเราเผลอตอบไป มันจะมีคำถามใหม่มาอีกชุด อีกชุด และอีกชุด สรุปมันก็ไม่เข้าใจ และก็ยังคงงงอยู่ดี เพราะไอ้ที่มันถามนั้น จะว่าแล้วมันก็ไม่เคยได้ไปสัมผัสกับเค้าเลย (แต่กรูขอถามไว้ก่อน จะลองภูมิ หรือจะโชว์พาวก็แล้วแต่จะคิด) แต่การตอบคำถามไปเรื่อยๆอย่างนี้ไม่ดีแน่!!! เพราะจะไม่ช่วยให้เข้าใจขึ้น การตอบคำถามเราต้องเลือกที่จะตอบ และเลือกที่จะไม่ตอบ สำหรับคำถามบางประเภทที่เด็กยังไม่ควรรู้ ผมจะตอบไปตรงๆกับเด็กคนนั้นว่า "เดี๋ยวก่อน!!! เดี๋ยวจะบอก คุณยังไม่ควรรู้ตอนนี้ เพราะเดี๋ยวงง" หากเด็กไม่ฟัง หรือแสดงสีหน้าไม่พอใจ สำหรับผมแล้วมีอย่างเดียวคือ ไปเรียนกับคนอื่น อย่ามาเรียนกับผม ผมไม่ค่อยชอบใจเท่าไหร่นักที่ผมจะต้องตอบคำถามไปเรื่อยๆ ในขณะที่มันไม่ช่วยทำให้ชีวิต (เอ็ง) ดีขึ้น แล้วเราควรจะตอบตอนไหนล่ะ? บอกง่ายๆไปคิดเองคือ เราควรจะตอบตอนที่เด็กคนนั้นเคยไปสถานที่นั้นมาแล้ว แต่ไม่กระจ่าง หรือว่าลืมนั่นเอง
สร้างความสัมพันธ์กันในห้อง
ออกตัวกันก่อนว่าอันที่จริงสถาบันแห่งนี้ไม่ได้ใหญ่โตอะไร จะว่ากันตามตรงก็ไม่มีชื่อเสียงอะไรมากนัก (แต่ก็ไม่เคยมีชื่อเสียนะครับ) จะไปเทียบหรือไปแข่งกับสถาบันที่มีเด็กมานั่งเรียนกันทีละเป็นร้อยๆคนล่ะก็ เป็นไปไม่ได้ อีกอย่างประเภทที่เรียกว่ามานั่งเรียนกับวีดีโอล่ะก็ผมไม่เคยคิดจะทำ และก็สาบานไว้ว่าในชีวิตนี้จะไม่ทำอย่างนั้นเด็ดขาด สิ่งที่มีอยู่ในสถาบันนี้หากได้เ้ข้ามาสัมผัสกันอย่างจริงจัง เราะจะเห็นเด็กแทบทุกคนสนิทสนมกับพี่ที่เคาเตอร์ต้อนรับ เราจะเห็นเด็กหลายๆคนมาชวนคุณครูคุยเรื่องจิปาถะ เรื่อยเปื่อย บางคนก็จะมานั่งบ่นปัญหาชีวิตส่วนตัวให้ฟัง มีมากมายหลายอย่างที่จะคุยกันไปได้เรื่อยๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ ที่นี่มี แต่ผมเชื่อว่าที่อื่นจะไม่มีคือ การที่เด็กนักเรียนจากต่างโรงเรียนและไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มาช่วยกันติว ช่วยกันแนะ และช่วยกันทำการบ้าน สิ่งเหล่านี้มาได้อย่างไรล่ะ? บอกตรงๆว่ามาจากการสอนครั้งต้นๆที่ครูจะต้องช่วยกันผลักดันให้เด็กแต่ละคนรู้จักกัน เราจะต้องพยายามเปลี่ยนที่นั่งเด็กคนนั้น มาใกล้กับคนนี้ ท้ายสุดแล้วจะทำให้เด็กสนิทกันทั้งห้อง และต้องผลักดันให้ช่วยๆกันตอบ ถามว่ามีประโยชน์อะไรไหมกับการทำแบบนี้ บอกได้เลยว่าไม่มีประโยชน์ในแง่ความรู้มากนัก แต่สิ่งเหล่านี้หากเกินขึ้น มันจะช่วยสร้างความสุขให้ติวเตอร์เป็นแรงผลักดันในการสอนเป็นอย่างมาก ที่เห็นทุกๆคนช่วยกันตอบ และพยายามช่วยกันอธิบายเพื่อนที่เรียนไม่ค่อยทัน มันเป็นการสร้างสังคมกลุ่มเล็กๆที่คอยช่วยเหลือกัน ลองดูครับ หากทำได้ คุณจะรู้สึกอมยิ้มแบบผมก็เป็นได้
Repeat
สมัยหนึ่งในวัยที่ผมยังคงเป็นนักศึกษาที่เรียนในระดับ ป.โท ผมได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งในอดีตนั้น อาจารย์ท่านนี้เคยเป็นนักวิทยาศาสตร์ขององค์การ NASA มาก่อน อาจารย์ท่านนี้ได้กลับมารับใช้ชาติด้วยการสอนที่จุฬา เป็นโชคดีที่ผมได้เรียนในวิชา Thermal Stress Analysis กับอาจารย์เค้า วิชานี้ถ้าเป็นภาษาไทยมันจะเกี่ยวกับ ความเค้นในวัตถุที่เกิดจากความร้อน แค่ฟังชื่อนี้ไม่ร้อนหรอก แต่จะรู้สึกหนาวในความยากแน่ๆ (ผมคิดก่อนที่จะเริ่มเรียน) สิ่งที่ผมเจอคือสมการเชิงอนุพันธ์ ที่จะต้องใช้เวลาทำแต่ละข้อประมาณครึ่งค่อนวัน และเขียนออกมาเป็นสมการยาวๆกว่า 4 หน้ากระดาษ ก่อนกลับบ้าน สิ่งที่อาจารย์คนนั้นบอกกับนักศึกษาในห้องคือ "ผมไม่มีการบ้านใ้ห้หรอก การบ้านของผมก็คือ คุณกลับไปลอกสิ่งที่ผมสอนในวันนี้ลงในสมุดเปล่าๆ" อาจารย์เรียกวิธีนี้ว่าการ Repeat หรือแปลว่า "อีกรอบ" นั่นเอง ผมได้แต่ทำหน้างงๆ และก็กลับไปลอกอีกรอบอย่างที่อาจารย์บอก แต่ในระหว่างการลอกนั้น "ผมได้ทำความเข้าใจ และซึมซับมันไปอีกรอบจนเข้าใจ" สิ่งนี้ทำให้ผมบรรลุกับคำว่า Repeat
สำหรับปัจจุบันนี้ผมมักจะใช้เทคนิคนี้กับเด็กที่ค่อนข้างอ่อน นั่นคือ ผมจะให้ทุกคนวางดินสอ และไม่ให้ใครจด จากนั้นผมจะให้เด็กๆช่วยกันบอกวิธีการทำในการทำโจทย์ ผมจะค่อยๆสอน ค่อยๆบอกจนกว่าจะได้คำตอบ จากนั้นผมจะสรุป ทั้งเทคนิค ข้อระวัง และวิธีการแก้ปัญหากำกับลงไปอีกครั้ง เมื่อทุกคนเข้าใจ ผมจะลบทุกอย่างบนกระดานทิ้ง แล้วให้เด็กทำอีกรอบเค้าจะเข้าใจด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่เด็กๆเหล่านั้นจะทำได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับพวกเขามากขึ้นด้วย และในบางครั้งผมจะให้เด็กไป Repeat เองที่บ้านอีกรอบด้วย (สำหรับน้องที่อ่อนมาก)
สำรวจตัวเอง

นี่เป็นหัวข้อสุดท้ายแล้ว ในที่สุดบทความของผมก็มาถึงปลายทางซักที เป็นหัวข้อที่สำคัญที่สุด ของบทความนี้ครับ เป็นหัวข้อที่ผมจะไม่เขียนรายละเอียดเลย ลองกลับไปสำรวจตัวเอง บ้างนะครับ ซึ่งผมอยากจะบอกว่า “เป็นอาจารย์ อย่าเป็นได้แค่เพียง คนสอนหนังสือ” ในชีวิตผม ถึงแม้ว่าจะสอนพิเศษ มานานมากแล้ว แต่ ทุกวัน ผมยังกลับไปนั่งสำรวจตัวเองอยู่เลย ว่า วันนี้เราสอนเป็นยังไงบ้าง เราพูดยากเกินไปหรือเปล่า เราบ้าพลังเกินไปไหม วันนี้เราไปตรงเวลาหรือเปล่า เราตอบคำถามเด็กชัดเจนไหม วันนี้เราหงุดหงิดกับคำถามเด็กไหม การสำรวจตัวเอง ทุกๆวัน มันทำให้ผม เดินเข้าไปใกล้ความเป็นอาจารย์มากขึ้น แล้วคุณล่ะ “เป็นอาจารย์ หรือ เป็นแค่คนสอนหนังสือ” ถามเอง ตอบเอง โชคดีนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น